หลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น

 

 

 

เรียบเรียงโดย  กฤษณ์  วงศ์วิเศษธร

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ.ดร.ปธาน สุวรรณมงคล


บทนำ

          ในประเทศหรือรัฐที่มีการจัดโครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดินแบบมีราชการส่วนท้องถิ่น ล้วนแล้วแต่ยอมรับว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นจะต้องมีความเป็นอิสระทั้งในแง่สถานะขององค์การ พื้นที่ อำนาจ การบริหารงานบุคคล และการคลัง ซึ่งความเป็นอิสระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแง่มุมต่าง  ๆ เหล่านี้ เป็นไปเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถบริหารงานและจัดทำบริการสาธารณะที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนในแต่ละท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี ประชาชนในพื้นที่มีสิทธิเสรีภาพในการเลือกและกำหนดเจตจำนงทางการเมืองของตนได้ภายในกรอบของกฎหมายและหลักการพื้นฐานแห่งรัฐ เช่นนี้เอง “หลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น” จึงได้รับการยอมรับนับถือว่าเป็นหลักการสำคัญเป็นพื้นฐานของรัฐหรือประเทศที่มีการปกครองส่วนท้องถิ่น

          ในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปนั้น หลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่นได้รับการรับรองและกำหนดไว้ใน “กฎบัตรสหภาพยุโรปว่าด้วยการปกครองตนเองขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” (European Charter of Local Self-Government) เนื้อหาและวัตถุประสงค์ของกฎบัตรดังกล่าวนี้ เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกกำหนดกฎเกณฑ์อย่างใด ๆ เพื่อเป็นรับรองความเป็นอิสระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งในแง่การเมือง, การบริหาร และการคลัง ซึ่งกฎเกณฑ์เหล่านี้จะต้องปรากฏตัวในรูปของกฎหมายภายในประเทศหรือรัฐนั้น ๆ หรือบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ โดยจะต้องมีองค์กรที่มาจากการเลือกทั้งโดยทั่วไปของประชาชนในพื้นที่[1]

                   

ความหมายและลักษณะ

          หลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่นมิได้มีนิยามที่ถูกกำหนดเอาไว้เป็นการเฉพาะในกฎหมาย ซึ่งในระบบกฎหมายต่างประเทศนั้น เท่าที่สำรวจพบว่ามีถ้อยคำที่ใกล้เคียงกันอยู่ คือคำว่า “The Principle of Local Self-Government” ในระบบกฎหมายอังกฤษ หรือคำว่า “Le principe de l'autonomie locale” ในระบบกฎหมายฝรั่งเศส และคำว่า “Der Grundsatz der kommunalen Selbstverwaltung” ในระบบกฎหมายเยอรมัน โดยเมื่อพิเคราะห์ถ้อยคำที่ใช้ในระบบกฎหมายต่าง ๆ พบว่า นัยของถ้อยคำนั้นมุ่งเน้นไปที่การปกครองตนเองของท้องถิ่นทั้งสิ้น ในฝรั่งเศสนั้นมีผู้อธิบายว่า หลักแห่งการปกครองตนเองขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีนัยด้วยกันสองประการ คือ[2]

          ประการแรก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอิสระในการปกครองตนเองจากรัฐ กล่าวคือ ท้องถิ่นมีอิสระในการดำเนินกิจกรรมต่าง  ๆ ซึ่งเป็นประโยชน์ร่วมกันของท้องถิ่นนั้น ๆ มีบุคลากร เครื่องไม้เครื่องมือและการคลังเป็นของตนเอง รวมทั้งท้องถิ่นสามารถออกคำสั่งทางปกครองและทำสัญญาได้ด้วยตนเอง

          ประการที่สอง ความมีอิสระเมื่อเปรียบเทียบกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นหรือองค์การมหาชน (les établissements publics) ทั้งหลาย ซึ่งหมายถึงเมื่อกฎหมายได้บัญญัติให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดมีอำนาจหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นหรือองค์การมหาชนอื่น จะเข้าไปจัดทำกิจการที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายนั้นบัญญัติไว้ไม่ได้ เว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์การมหาชนร่วมกันจัดทำกิจการนั้น นอกจากนี้ความเป็นอิสระยังหมายความว่า ห้ามมิให้มีการกำกับดูแลระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยกันเองด้วย

          สำหรับในประเทศไทยนั้นครั้งแรกที่มีการบัญญัติคำว่า “หลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น” ในระบบกฎหมายคือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2517 มาตรา 214 ความว่า “การจัดระเบียบการปกครองส่วนท้องถิ่นรวมทั้งนครหลวง ต้องเป็นไปตามหลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น  ทั้งนี้ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย” และปรากฏว่า “หลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น” ในรัฐธรรมนูญฉบับถาวรสืบเนื่องกันมาจนถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย พ.ศ. 2550

          ถ้าพิจารณาจากความเห็นของนักวิชาการ การตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกา และจากบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแล้ว หลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น หมายถึง การที่ท้องถิ่นใดมีลักษณะที่จะปกครองตนเองได้ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ย่อมมีสิทธิปกครองตนเอง มีองค์กรที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในท้องถิ่น มีอิสระในการกำหนดนโยบายการปกครองท้องถิ่นของตน ตลอดจนมีอิสระในการที่จะวินิจฉัยปัญหาต่าง ๆ ของท้องถิ่นได้ด้วยตนเอง รวมถึงการที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอิสระในทางการภาษีอากรและการเงินแห่งท้องถิ่น[3]

          มีข้อสังเกตว่า คำว่า “เจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น” นั้น สามารถจำแนกออกได้เป็น 2 ลักษณะคือ[4]

          หนึ่ง เจตนารมณ์พื้นฐาน หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเจตนารมณ์ทั่วไป หมายถึงความมุ่งหมายของราษฎรในท้องถิ่นที่จะได้รับบริการสาธารณะพื้นฐานจากการปกครองท้องถิ่น บริการสาธารณะเช่นว่านี้มีลักษณะที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อนหรือไม่มีเทคนิคสูงในการจัดทำ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของประชาชนในท้องถิ่น

          สอง เจตนารมณ์พิเศษ หมายถึง ความมุ่งหมายที่จะได้รับบริการสาธารณะที่มีลักษณะพิเศษจากการปกครองท้องถิ่น นอกเหนือจากเจตนารมณ์พื้นฐาน บริการสาธารณะเช่นว่านี้มักจะมีความยุ่งยากซับซ้อน หรือมีเทคนิคสูง หรือต้องใช้วิธีการพิเศษในการจัดทำและราษฎรในท้องถิ่นเห็นว่าท้องถิ่นของตนจำเป็นต้องมี และการปกครองท้องถิ่นอำนวยให้ได้ เช่น การมีระบบกำจัดน้ำเสีย การมีระบบขนส่งมวลชน เป็นต้น

          ทั้งนี้รัฐธรรมนูญได้เคยบัญญัติกำหนดขอบเขตของการใช้อำนาจควบคุมกำกับดูของส่วนกลางที่มีต่อท้องถิ่นเอาไว้ว่า “การกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องทำเท่าที่จำเป็นและมีหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ชัดเจนสอดคล้องและเหมาะสมกับรูปแบบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ โดยต้องเป็นไปเพื่อการคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นหรือประโยชน์ของประเทศเป็นส่วนรวม และจะกระทบถึงสาระสำคัญแห่งหลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น หรือนอกเหนือจากที่กฎหมายบัญญัติไว้มิได้”[5] ย่อมแสดงให้เห็นถึงความสำคัญที่รัฐส่วนกลางเคารพต่อเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น

 

สถานะของหลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น

          กฎบัตรสหภาพยุโรปว่าด้วยการปกครองตนเองขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” (European Charter of Local Self-Government) เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกกำหนดกฎเกณฑ์อย่างใด ๆ เพื่อเป็นรับรองความเป็นอิสระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งกฎเกณฑ์เหล่านี้จะต้องปรากฏตัวในรูปของกฎหมายภายในประเทศหรือรัฐนั้น ๆ หรือบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ

          ในกรณีที่บัญญัติรับรองหลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่นไว้ในรัฐธรรมนูญจะส่งผลในทางกฎหมายคือ

  1. หลักการดังกล่าวมีค่าบังคับทางกฎหมายในระดับรัฐธรรมนูญ (valeur constitutionnelle) ซึ่งเมื่อพิจารณาตามลำดับชั้นของกฎหมายแล้ว ก็ย่อมมีค่าบังคับสูงกว่ากฎหมายในระดับที่ต่ำกว่าลงมาไม่ว่าจะเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญซึ่งมีค่าบังคับสูงกว่าพระราชบัญญัติ (valeur super législative) กฎหมายในระดับพระราชบัญญัติเองและกฎหมายลำดับรองอื่น ๆ
  2. กฎหมายในระดับต่ำกว่าจะขัดหรือแย้งกับเนื้อหาของหลักแห่งการปกครองตนเองตาม

 

เจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่นดังที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้มิได้[6]

          สำหรับประเทศไทยนั้น ได้มีการบัญญัติรับรอง “หลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น” เอาไว้ในรัฐธรรมนูญนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2517 เป็นต้นมา ทำให้สถานะของหลักการดังกล่าวนี้มีค่าบังคับระดับรัฐธรรมนูญซึ่งฝ่ายนิติบัญญัติจะตรากฎหมายออกมาขัดหรือแย้งมิได้  อนึ่งสมควรกล่าวด้วยว่า ผลของการยอมรับหลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่นไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยสืบมานี้ อาจถือได้ว่าเป็นการยอมรับนับถือให้หลักการดังกล่าวเป็น “ประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ในฐานะหลักกฎหมายทั่วไปทางมหาชน

          กล่าวโดยสรุป หลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่นมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับความเป็นอิสระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในทางวิชาการมักมีการนำมาอธิบายปะปนกันหรือใช้แทนกันจนอาจเกิดความสับสนปนเปไปได้มาก อย่างไรก็ตาม ถ้ากล่าวจนถึงที่สุดแล้วทั้งสองคำนี้แม้มีความหมายแทบจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่สถานะในทางกฎหมายนั้นแตกต่างกัน กล่าวคือ “ความเป็นอิสระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” นั้น จัดเป็นหลักการทั่วไปขององค์กรปกครองส่วนท้อง เป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะขาดเสียมิได้หากองค์กรของรัฐที่เกิดจากกระจายอำนาจนั้นจะมีสถานะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในขณะที่ “หลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น” มีฐานะเป็นกฎเกณฑ์ทางกฎหมาย (Legal Norm) กรณีที่ได้บัญญัติรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ หลักการนี้จะมีฐานะหรือค่าบังคับเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญ หรือกรณีหากมิได้บัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ก็ยังต้องถือว่ามีฐานะเป็น “หลักกฎหมายทั่วไป” ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่นั่นเอง

 

บรรณานุกรม

พรชัย  รัศมีแพทย์. หลักกฎหมายการปกครองท้องถิ่นไทย. พิมพ์ครั้งที่ 4.นนทบุรี: สำนักพิมพ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2541.

สมคิด  เลิศไพฑูรย์. กฎหมายการปกครองท้องถิ่น. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์คณะรัฐมนตรีและราชกิจจานุเบกษา, 2547.

BOURDON Jacques, PONTIER Jean-Marie et RICCI Jean-Claude. Droit des collectivités territoriales. Paris: P.U.F, 1987.

พนม  เอี่ยมประยูร. “หลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่นในฐานะที่เป็นหลักกฎหมายซึ่งมีค่าบังคับในระดับรัฐธรรมนูญ.” อาจาริยบูชา หนังสือรวมบทความทางวิชาการ เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ศาสตราจารย์ไพโรจน์  ชัยนาม.กรุงเทพมหานคร: วิญญูชน, 2538.

 

อ้างอิง

[1] Please see, European Charter of Local Self-Government.

[2] Jacques BOURDON, Jean-Marie PONTIER et Jean-Claude RICCI, Droit des collectivités territoriales (Paris: P.U.F, 1987), p. 130-140. อ้างถึงใน สมคิด  เลิศไพฑูรย์, กฎหมายการปกครองท้องถิ่น (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์คณะรัฐมนตรีและราชกิจจานุเบกษา, 2547), น. 92-93.

[3] สมคิด  เลิศไพฑูรย์, เพิ่งอ้าง, น. 286.

[4] พรชัย  รัศมีแพทย์, หลักกฎหมายการปกครองท้องถิ่นไทย, พิมพ์ครั้งที่ 4 (นนทบุรี: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2541), น. 18.

[5] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 282. และมีข้อความทำนองเดียวกันนี้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 283.

[6] พนม  เอี่ยมประยูร, “หลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่นในฐานะที่เป็นหลักกฎหมายซึ่งมีค่าบังคับในระดับรัฐธรรมนูญ,” อาจาริยบูชา หนังสือรวมบทความทางวิชาการเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ศาสตราจารย์ไพโรจน์  ชัยนาม (กรุงเทพมหานคร: วิญญูชน, 2538),   น. 263.

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก สถาบันพระปกเกล้า http://wiki.kpi.ac.th/index.php