นักการเมืองท้องถิ่น

 

 

 

เรียบเรียงโดย  ผศ.ดร. ณัฐพล  ใจจริง

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ.ดร.ปธาน สุวรรณมงคล


บทนำ

          การปกครองท้องถิ่นคือการปกครองที่รัฐกลางหรือส่วนกลางได้กระจายอำนาจไปให้หน่วยการปกครองท้องถิ่น ซึ่งเป็นองค์กรที่มีสิทธิตามกฎหมาย มีพื้นที่ และประชากรเป็นของตนเอง ประการสำคัญองค์กรดังกล่าวจะต้องมีอำนาจอิสระ (Autonomy) ในการปฏิบัติอย่างเหมาะสม มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นได้เข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองตนเอง ตามเจตนารมณ์ของการปกครองในระบบประชาธิปไตย[1]การปกครองส่วนท้องถิ่นจึงเป็นพื้นที่ทางการเมืองที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการฝึกฝนให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในกิจการบ้านเมืองที่สามารถพัฒนาต่อไปเป็นพลเมืองที่แข็งขันของประเทศชาติได้[2]อีกทั้งการปกครองส่วนท้องถิ่นจะเป็นการฝึกฝนความเป็นพลเมืองในสังคมประชาธิปไตยเพราะการเมืองท้องถิ่นนั้นมีบรรยากาศที่เอื้อต่อการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมสาธารณะ[3]โดยตัวแสดงทางการเมืองท้องถิ่นที่มีบทบาทหลัก มีทั้งที่อยู่ในภาคการเมืองคือผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่น ภาคราชการส่วนท้องถิ่น คือพนักงานและหน่วยปฏิบัติการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาสังคมเช่นผู้นำชุมชนหรือบุคคลที่ได้รับการเคารพยกย่องจากสมาชิกชุมชน 

นับแต่ประเทศไทยมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540 เป็นต้นมา เป็นผลให้มีการตราพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญต่อการเมืองท้องถิ่น และต่อมามีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 ก็ได้เพิ่มอำนาจให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมากขึ้นเป็นลำดับ[4]ดังนั้น ผลจากการกระจายอำนาจของส่วนกลางที่ผ่านมา ส่งผลให้ท้องถิ่นแต่ละแห่งมีลักษณะของการจัดการปกครองที่มีตัวแทนมาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ทำให้การเมืองเรื่องการเลือกตั้งขยายไปสู่การเมืองระดับท้องถิ่นมากขึ้น ประชาชนทั้งในเมืองและในชนบทต่างเกี่ยวพันกับการเลือกตั้ง และเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้นำชุมชนในระดับต่างๆ ได้มีโอกาสเข้าสู่การแข่งขันตามระบอบประชาธิปไตยทำให้อำนาจรัฐเปลี่ยนมือจากข้าราชการส่วนกลางที่ถือครองอำนาจมายาวนานไปสู่นักการเมืองท้องถิ่นทำให้เกิดการแข่งขันกันเพื่อเข้าชิงตำแหน่งในองค์กรปกครองท้องถิ่นที่เข้มข้นและรุนแรงยิ่งขึ้น [5]อีกทั้งการที่ส่วนกลางถ่ายโอนภารกิจต่างๆสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพิ่มขึ้นก็ส่งผลให้การเมืองท้องถิ่นมีความตื่นตัวมากขึ้นอย่างรวดเร็วและทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเคลื่อนเข้าสู่การเป็นศูนย์กลางของระบบการเมืองท้องถิ่นในระดับที่เข้มข้นมากขึ้น[6]

 

ความหมายของนักการเมืองและนักการเมืองท้องถิ่น

          คำว่า “นักการเมือง” (politician) มาจากคำว่า “การเมือง” (politics) ซึ่งมาจากภาษากรีก คือคำว่า polis แปลว่าเมืองหรือนคร ตามประวัติศาสตร์การปกครองของกรีกในสมัยโบราณนั้นเมืองหรือนครนั้นมีฐานะเป็นรัฐ (state) หรือที่เรียกว่านครรัฐ เช่น นครรัฐเอเธนส์ นครรัฐสปาร์ตา เมืองหรือนครในสมัยโบราณจึงกลายมาเป็น “รัฐ” ตามความหมายในปัจจุบัน ในนครรัฐเอเธนส์ ถือว่าสังคมคือการเมืองประชาชนทั้งหมดในฐานะที่มีส่วนร่วมในกิจการของรัฐก็คือนักการเมือง และบุคคลที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบในการอำนวยการปกครองของรัฐหรือเมืองก็คือประชาชนที่เกี่ยวข้องกับการเมืองมากกว่าคนอื่นๆ[7]

          ภายใต้ความเป็นรัฐสมัยใหม่ มีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการเมืองที่หลากหลาย ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 4 ประเภทสำคัญ ตามลักษณะของการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง[8] ประเภทแรกคือ ผู้ที่ไม่สนใจการเมือง มักเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศที่กำลังพัฒนา ไม่สนใจเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองหรือกระบวนการทางการเมือง เช่น ไม่ไปเลือกตั้ง ไม่สนใจเป็นสมาชิกพรรคการเมืองหรือลงรับสมัครเลือกตั้ง ไม่สนใจเรื่องราวต่างๆ ทางการเมือง ประเภทที่สอง ผู้สนใจทางการเมือง เป็นบุคคลที่สนใจเรื่องราวต่างข่าวสารทางการเมืองและอาจเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจในการดำเนินกิจการของรัฐ รู้ถึงความสำคัญของตัดสินใจของสถาบันทางการเมือง แต่ยังไม่ถึงระดับที่จะลงรับสมัครเลือกตั้ง ประเภทที่สาม ผู้แสวงหาอำนาจและผู้นำ ในสังคมการเมืองหนึ่งๆ มีบุคคลบางคนพยายามแสวงหาอำนาจมากกว่าคนอื่นๆ ซึ่งทำให้เขามีอำนาจหรืออิทธิพลทางการเมืองมากกว่า บุคคลเหล่านี้จะพยายามแสวงหาอิทธิพลเพื่อผลทางด้านนโยบาย ระเบียบข้อบังคับ และการตัดสินใจในการบังคับใช้กฎหมาย การแสวงหาอำนาจก็เพื่อประโยชน์ทางการเมือง การคุ้มครองผลประโยชน์ประชาชน หรือผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้องตัวเอง ประเภทสุดท้าย ผู้ทรงอำนาจทางการเมือง หมายถึงบุคคลที่มีทรัพยากรทางการเมืองหรือเป็นผู้ใช้อำนาจทางการเมือง อันเนื่องมาจากความแตกต่างของสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้แก่บุคคลเหล่านี้มากกว่าบุคคลโดยทั่วไปในระบบการเมือง เมื่อพิจารณาบุคคลทั้ง 4 ประเภทจึงพบได้ว่านักการเมืองในความหมายทั่วไปคือผู้แสวงหาอำนาจและผู้นำนักการเมืองจึงเป็นกลุ่มบุคคลซึ่งมีอำนาจในสังคมใดสังคมหนึ่งโดยมีตำแหน่งหน้าที่สำคัญและมีชื่อเสียงอาจรวมถึงบุคคลหลายอาชีพด้วยกันเป็นบุคคลที่มีตำแหน่งสูงมีอำนาจหน้าที่ราชการซึ่งเป็นบุคคลส่วนน้อยในสังคมและเป็นผู้ควบคุมทรัพย์สินส่วนใหญ่หรือมีสถานภาพสังคมในระดับสูงหรือเป็นผู้มีอิทธิพลไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมในกระบวนการตัดสินใจที่ผลต่อสมาชิกในสังคม

          สำหรับความหมายของนักการเมืองท้องถิ่น เมื่อพิจารณาในมิติของการเมืองท้องถิ่น ก็จะพบได้ว่าการเมืองท้องถิ่นมีสองมิติเช่นเดียวกับการเมืองระดับชาติ คือมิติของการเมืองภาคตัวแทนและการเมืองภาคพลเมืองกล่าวคือ การเมืองท้องถิ่นในมิติของภาคตัวแทน คือการเมืองที่ประชาชนเลือกนักการเมืองท้องถิ่นเข้าไปทำหน้าที่แทนตนเองในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นั่นคือ ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ส่วนมิติภาคพลเมือง เป็นการเมืองที่เกิดขึ้นจากประชาชนหรือชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ เช่น การไปใช้สิทธิเลือกตั้ง การลงชื่อเพื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น การเข้าชื่อถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง[9]

          การเมืองท้องถิ่นจึงเป็นเรื่องของการเข้ามาแสวงหาอำนาจและใช้อำนาจของบุคคล/กลุ่มบุคคลเพื่อผลประโยชน์ของสาธารณะหรือกลุ่มคนเฉพาะกลุ่ม หรือเฉพาะบุคคลในท้องถิ่นนั้น ภายใต้บริบทของการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอำนาจและผลประโยชน์ในท้องถิ่น ดังนั้น นักการเมืองท้องถิ่นคือบุคคลที่เสนอตัวเข้าสู่ระบบการเมืองท้องถิ่น ภายใต้ระบบการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้นักการเมืองท้องถิ่นมีความชอบธรรมในการเป็นตัวแทนเข้าไปทำหน้าที่แทนประชาชนในท้องถิ่นทั้งการบริหารท้องถิ่น (ฝ่ายบริหาร) และการควบคุมตรวจสอบ (ฝ่ายนิติบัญญัติ)

 

นักการเมืองท้องถิ่นกับโครงสร้างอำนาจในระดับท้องถิ่น[10]

          1) โครงสร้างอำนาจท้องถิ่นแบบขั้วเดียวหรือแบบรวมศูนย์ท้องถิ่นมักมีชนชั้นนำกลุ่มหนึ่งที่รวมตัวกันเหนียวแน่นผูกขาดอำนาจและการตัดสินใจของสังคมในทุกเรื่องในลักษณะชนชั้นนำนิยมความสัมพันธ์เชิงอำนาจเป็นไปในลักษณะผูกขาดอำนาจทางการเมืองเศรษฐกิจ สังคม ทั้งในระดับจังหวัดหรือชุมชนท้องถิ่นเพราะมีชนชั้นนำอยู่ขั้วเดียวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีกลุ่มมีความเข้มแข็งเหนือกว่ากลุ่มอื่นๆมีผู้อยู่ภายใต้การอุปถัมภ์อย่างกว้างขวางมากมายและมีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับข้าราชการในจังหวัดหน่วยงานต่างๆและท้องถิ่นเป็นผู้มีบารมีและมีอิทธิพลจนเป็นเหตุให้ผูกขาดอำนาจทางการเมืองได้อย่างเบ็ดเสร็จ (Monopolistic Politics) โดยปราศจากคู่แข่งทางการเมืองที่มีศักยภาพที่จะแข่งขันได้อีกทั้งชนชั้นนำลักษณะนี้จะเป็นผู้กุมอำนาจในการตัดสินใจทั้งหมดทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ

โครงสร้างอำนาจท้องถิ่นแบบขั้วเดียวนี้ชนชั้นนำของการเมืองระดับชาตินักการเมืองท้องถิ่นผู้บริหารหน่วยงานต่างๆจะเป็นเครือข่ายเดียวกันทำให้การบริหารราชการต่างๆ หรือการดำเนินกิจกรรมของจังหวัดนั้นๆมีเสถียรภาพสูงมีความเป็นเอกภาพและปราศจากความขัดแย้งใดๆเพราะเมื่อเกิดปัญหาจะมีผู้ที่คอยจัดการความขัดแย้งให้การบริหารดำเนินการต่อไปอย่างคล่องตัวและรวดเร็ว

2)โครงสร้างอำนาจท้องถิ่นแบบ 2 หรือ 3 ขั้วอำนาจการเมืองเป็นเรื่องของการแข่งขันกันระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆอำนาจและโครงสร้างอำนาจจึงไม่ตายตัวแต่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาโครงสร้างอำนาจท้องถิ่นแบบ 2 หรือ 3 ขั้วอำนาจมักมีการต่อสู้แข่งขันระกว่างกลุ่มต่างๆ ทั้งการเมืองระดับชาติระดับท้องถิ่นหรือความขัดแย้งภายในชุมชนเพราะไม่มีกลุ่มใดมีอำนาจเหนือกลุ่มใดอย่างเด็ดขาดแต่ละกลุ่มต่างมีฐานทางเศรษฐกิจดีเท่ากันมีเครือข่ายในจังหวัดเท่าๆกันมีผู้อยู่ภายใต้อุปถัมภ์เท่าๆกันอีกทั้งขั้วต่างๆเหล่านั้นมีการต่อสู้แข่งขันกันทั้งก่อนการเลือกตั้งและภายหลังจากการเลือกตั้งเช่นในระดับท้องถิ่นกลุ่มหนึ่งได้เป็นฝ่ายบริหารอีกกลุ่มหนึ่งจะได้เป็นฝ่ายสภาเป็นต้นซึ่งมีข้อดีคือทำให้ฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติมีการตรวจสอบถ่วงดุลซึ่งกันและกัน

3) โครงสร้างอำนาจท้องถิ่นแบบหลายขั้วจนไม่มีขั้วอำนาจที่ชัดเจนโครงสร้างอำนาจท้องถิ่นแบบนี้จะไม่ถูกครอบงำแบบเบ็ดเสร็จอย่างแบบโครงสร้างขั้วเดียวและไม่มีความรุนแรงเท่ากับโครงสร้างแบบ 2 หรือ 3 ขั้วอำนาจเพราะอำนาจไม่ได้ถูกผูกขาดอยู่กับชนชั้นนำกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งการต่อสู้ของชนชั้นนำต่างๆยังอิสระต่อกันมากจนไม่มีใครมีอำนาจเหนือใครจนชนชั้นนำต่างๆต้องจับมือกันเป็นพันธมิตรเพื่อรวมตัวกันมาบริหารงานท้องถิ่น

 

วัฒนธรรมการเมืองท้องถิ่นกับนักการเมืองท้องถิ่น

  • 3 แบบคือ (1) วัฒนธรรมการเมืองแบบปรึกษาหารือ ซึ่งพัฒนามากจากความโดดเด่นของการมีองค์กรชุมชนที่เข้มแข็ง (2) วัฒนธรรมการเมืองแบบแข่งขัน ซึ่งพัฒนามาจากการแย่งชิงและยึดครองฐานเสียงและผลประโยชน์ทางการเมืองระหว่างกลุ่มการเมืองในระดับชาติและท้องถิ่น และ (3) วัฒนธรรมการเมืองแบบรวมศูนย์-ผูกขาดอำนาจทางการเมือง ซึ่งพัฒนามาจากการรวมศูนย์อำนาจและการจัดระบบความสัมพันธ์ทางการเมืองการปกครองแนวดิ่งในอดีต[11]

1) วัฒนธรรมการเมืองแบบปรึกษาหารือหรือแบบสมาคม (Deliberative/Civic political culture)ประกอบขึ้นด้วยพลเมืองที่รู้จักคุ้นเคยกัน เป็นญาติมิตร รักใคร่นับถือกัน ผูกพันระหว่างกันและกัน และเชื่อถือไว้วางใจกันและกันค่อนข้างสูง ส่วนใหญ่เป็นชาวเมืองหรือชาวชุมชนมาแต่กำเนิด มีจิตใจรักและผูกพันกับเมืองหรือชุมชนของตนเองอย่างชัดเจน มีจิตสำนึกสาธารณะ ให้ความสำคัญกับการเข้าร่วมกิจกรรมของกลุ่ม/สมาคม ชมรม องค์กรชุมชน ในการจัดกิจกรรม/บริการสาธารณะของชุมชน จึงมีองค์กรชุมชนทำหน้าที่จัดกิจกรรมสาธารณประโยชน์จำนวนหลายกลุ่มหลายองค์กร แต่ละกลุ่ม/องค์กรมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนในชุมชน เช่นกลุ่มส่งเสริมอาชีพ กลุ่มเหมืองฝาย กลุ่มสวัสดิการ กลุ่มออมทรัพย์ สหกรณ์ กลุ่มส่งเสริม/อนุรักษ์วัฒนธรรม กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน ฯลฯ เป็นต้น กลุ่มเหล่านี้มีกิจกรรมต่อเนื่อง มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมากอย่างสม่ำเสมอ

การเลือกตั้งในท้องถิ่นในวัฒนธรรมแบบปรึกษาหารือนี้อาจมีนักการเมืองท้องถิ่นลงรับสมัครเลือกตั้งจากหลายกลุ่มและมีการแข่งขันทางการเมืองที่เข้มข้นระหว่างกลุ่มต่างๆแต่ในที่สุดผู้ที่ได้รับเลือกจะเป็นผู้ที่กลุ่มองค์กรชุมชนส่วนใหญ่ให้การยอมรับมากที่สุดเมื่อเสร็จสิ้นการเลือกตั้งแล้วการแข่งขันทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงการเลือกตั้งก็ค่อยๆคลี่คลายและหมดไปนักการเมืองท้องถิ่นจึงเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับและไว้วางใจจากกลุ่ม/องค์กรชุมชน และประชาชนทั่วไป และสนับสนุนให้มาทำหน้าที่เป็นผู้บริหารท้องถิ่น เป็นคนในท้องถิ่น ไม่มีความสัมพันธ์กับพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองภายนอกเป็นนักประสานงานมากกว่าเป็นผู้นำที่เข้มแข็งเด็ดขาดส่วนใหญ่มีแบบแผนบริหารแบบเน้นการมีส่วนร่วมของกลุ่ม/องค์กรชุมชน รับฟังความคิดเห็นผ่านเวทีชุมชน และการปรึกษาหารือระหว่างกลุ่ม/องค์กรชุมชน

2) วัฒนธรรมการเมืองแบบแข่งขันรุนแรง (Fragmented and volatile competition) การเมืองแบบนี้อาจจะพบเห็นได้ในชุมชนเขตเมืองหรือกึ่งชนบทกึ่งเมืองที่มีการแบ่งกลุ่มการเมืองเป็นฝักเป็นฝ่ายหลายกลุ่มหลายพวก (Fragmented/Plural society) ที่เข้ากันไม่ได้ และไม่มีพวกใดกลุ่มใดมีอำนาจทางการเมืองเหนือกลุ่มอื่นอย่างเด็ดขาด การเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นการแข่งขันทางการเมือง นักการเมืองท้องถิ่นลงสมัครแข่งขันรับเลือกตั้งจำนวนหลายกลุ่มและมีท่าทีเป็นปฏิปักษ์ต่อกันอย่างชัดเจนใช้กลยุทธ์การต่อสู้แบบทำลายล้างเพื่อเอาชนะคู่ต่อสู้ให้ได้ไม่ประนีประนอมอาจใช้วิธีนอกกฎหมายและใช้ความรุนแรงประกอบกันในบางกรณีมีการดึงนักการเมืองและพรรคการเมืองระดับชาติเข้าร่วมเป็นพลังสนับสนุนกลุ่มการเมืองท้องถิ่นด้วยในกรณีเช่นนี้จะยิ่งทำให้การต่อสู้แข่งขันในการเลือกตั้งท้องถิ่นเพิ่มความเข้มข้นและรุนแรงมากขึ้น

3) วัฒนธรรมการเมืองแบบผูกขาด-รวมศูนย์อำนาจ (Monopolisticand centralized political culture)การผูกขาดและรวมศูนย์อำนาจทางการเมืองอาจเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ เช่น เกิดจากการก่อตัวของผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น ซึ่งอาศัยอำนาจรัฐเป็นองค์ประกอบในขั้นต้น เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้านที่เป็นผู้มีอิทธิพล หรือผู้มีอิทธิพลที่อิงอำนาจของส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐหรืออาศัยอำนาจบารมีนักการเมืองระดับชาติหรือเกิดกลุ่มการเมืองท้องถิ่นที่ผูกขาดอำนาจทางการเมืองเพราะมีผลงานเป็นที่ยอมรับ หรือมีนโยบายการดำเนินงานที่ประชาชนในท้องถิ่นนิยมชมชอบ เข้าถึงความต้องการของประชาชน ทำให้กลุ่มการเมืองนั้นๆ ได้รับการเลือกตั้งกลับเข้ามาอีกหลายครั้งติดต่อกันแม้จะเปลี่ยนตัวผู้นำทางการเมือง แต่กลุ่มการเมืองนั้นๆ อาจยังได้รับการเลือกตั้งกลับเข้ามาอย่างต่อเนื่อง หรืออาจเกิดจากหลายๆ ปัจจัยร่วมกันการเมืองในระบบวัฒนธรรมแบบนี้จะมีกลุ่มการเมืองที่ผูกขาดอำนาจการเมืองท้องถิ่นโดดเด่นเพียงกลุ่มเดียว ปราศจากคู่แข่งที่สามารถท้าทายอำนาจได้จริงๆ ดังนั้นเมื่อมีการเลือกตั้งนักการเมืองท้องถิ่นจึงไม่มีคู่แข่งทางการเมืองที่เข้มแข็งเพียงพอที่จะท้าทายอำนาจของกลุ่มที่กุมอำนาจทางการเมืองได้ ไม่ค่อยมีความขัดแย้งรุนแรงเพราะกลุ่มผูกขาดอำนาจทางการเมืองในท้องถิ่นได้จัดสรรอำนาจและผลประโยชน์ทางการเมืองให้คนกลุ่มต่างๆได้อย่างลงตัว  

 

บทสรุป

          การที่ส่วนกลางกำหนดให้มีการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ทำให้เกิดระบบการเมืองท้องถิ่นแบบประชาธิปไตยตัวแทนที่เป็นทางการขึ้นในท้องถิ่นต่างๆและเมื่อส่วนกลางได้ถ่ายโอนภารกิจ รายได้และเงินอุดหนุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพิ่มขึ้นก็ได้ส่งผลให้การเมืองในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความตื่นตัวมากขึ้นซึ่งนั่นทำให้นักการเมืองท้องถิ่นกลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเมืองท้องถิ่น ซึ่งโดยมากนักการเมืองท้องถิ่นมักเป็นกลุ่มเดียวกับชนชั้นนำทางการเมืองในท้องถิ่นนั้นๆ ที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับหน่วยงานต่างๆของจังหวัดเป็นชนชั้นนำทางเศรษฐกิจในฐานะที่เป็นผู้มีความมั่งคั่งของท้องถิ่นสะสมทุนมาเป็นเวลายาวนานและเป็นชนชั้นนำทางสังคมที่มีผู้อยู่ภายใต้อุปถัมภ์จำนวนมาก ลักษณะเช่นนี้ส่งผลให้นักการเมืองที่เป็นชนชั้นนำสามารถกุมนโยบายการตัดสินใจในระดับท้องถิ่นได้ซึ่งจะมากน้อยแตกต่างกันขึ้นอยู่กับโครงสร้างอำนาจของแต่ละท้องถิ่น อย่างไรก็ดี การเมืองท้องถิ่นเป็นการเมืองของทุกภาคส่วนในท้องถิ่นภายใต้ความเป็นประชาธิปไตย ดังนั้น นักการเมืองท้องถิ่นในฐานะเป็นตัวแทนของประชาชนจึงต้องทำให้เกิดการมีส่วนร่วมที่กว้างขวางจากทุกภาคส่วนในท้องถิ่น ต้องทำให้การเมืองท้องถิ่นเป็นทั้งการเมืองภาคตัวแทนและการเมืองภาคพลเมือง เพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น

 

บรรณานุกรม

 

จรัส สุวรรณมาลา. 'วัฒนธรรมการเมืองท้องถิ่นในประเทศไทย'ในวารสารสถาบันพระปกเกล้า วารสารปีที่ 5 ฉบับที่ 3 เดือนกันยายน - ธันวาคม 2550

ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์. ปัญหาการเมืองไทยในปัจจุบัน . พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพมหานคร. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. 2532.

ปธาน สุวรรณมงคล.  การเมืองท้องถิ่น: การเมืองของใครโดยใครเพื่อใคร. กรุงเทพมหานคร: จตุพรดีไซด์. 2554.

ระดม วงษ์น้อม. แนวคิดเรื่องชนชั้นนำและการศึกษาโครงสร้างอำนาจชุมชน. ใน รัฐศาสตร์สาร 9(2) (พฤษภาคม-สิงหาคม)  2526.

วุฒิสาร  ตันไชย. การกระจายอำนาจสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น.พิมพ์ครั้งที่ 6.กรุงเทพฯ: บริษัท เอ.พี. กราฟิค ดีไซน์และการพิมพ์ จำกัด. 2548.

เวียงรัฐ เนติโพธิ์.การกระจายอำนาจกับแบบแผนใหม่ของเครือข่ายอิทธิพล. ใน ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ (บรรณาธิการ), ก้าว (ไม่) พ้นประชานิยม : กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น. กรุงเทพฯ:เอดิสันเพรส โปรดักส์.2551

เอนก เหล่าธรรมทัศน์. แปรถิ่น เปลี่ยนฐาน: สร้างการปกครองท้องถิ่นให้เป็นรากฐานของประชาธิปไตย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.2552.

อุดม ทุมโฆษิต. การปกครองท้องถิ่นสมัยใหม่: บทเรียนจากประเทศพัฒนาแล้ว. กรุงเทพฯ:โครงการเอกสารและตำรา คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์. 2550.

อภิชาต สถิตนิรามัย. รัฐธรรมนูญ การกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของประชาชน. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์เดือนตุลา. 2555.

 

อ้างอิง

[1]วุฒิสาร  ตันไชย. การกระจายอำนาจสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น.พิมพ์ครั้งที่ 6.กรุงเทพฯ: บริษัท เอ.พี. กราฟิค ดีไซน์และการพิมพ์ จำกัด, 2548.

[2]เอนก เหล่าธรรมทัศน์.แปรถิ่น เปลี่ยนฐาน: สร้างการปกครองท้องถิ่นให้เป็นรากฐานของประชาธิปไตย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 2552.

[3]อุดม ทุมโฆษิต. การปกครองท้องถิ่นสมัยใหม่: บทเรียนจากประเทศพัฒนาแล้ว. กรุงเทพฯ:โครงการเอกสารและตำรา คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์. 2550.

[4]อภิชาต สถิตนิรามัย. รัฐธรรมนูญ การกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของประชาชน. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์เดือนตุลา.2555.หน้า2

[5]เวียงรัฐ เนติโพธิ์.การกระจายอำนาจกับแบบแผนใหม่ของเครือข่ายอิทธิพล. ใน ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ (บรรณาธิการ), ก้าว (ไม่) พ้นประชานิยม : กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น. กรุงเทพฯ:เอดิสันเพรส โปรดักส์. 2551

[6]จรัส สุวรรณมาลา.'วัฒนธรรมการเมืองท้องถิ่นในประเทศไทย'ในวารสารสถาบันพระปกเกล้า วารสารปีที่ 5 ฉบับที่ 3 เดือนกันยายน - ธันวาคม 2550

[7]ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์. ปัญหาการเมืองไทยในปัจจุบัน . พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพมหานคร. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. 2532.

[8]Robert A. Dahl อ้างถึงในธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์.ปัญหาการเมืองไทยในปัจจุบัน . พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพมหานคร. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. 2532.

[9]ปธานสุวรรณมงคล.  การเมืองท้องถิ่น: การเมืองของใครโดยใครเพื่อใคร. กรุงเทพมหานคร: จตุพรดีไซด์. 2554. หน้า 23

[10]ระดม  วงษ์น้อม. แนวคิดเรื่องชนชั้นนำและการศึกษาโครงสร้างอำนาจชุมชน. ใน รัฐศาสตร์สาร 9(2)(พฤษภาคม-สิงหาคม 2526. หน้า 1-36.

[11]จรัส สุวรรณมาลา. 'วัฒนธรรมการเมืองท้องถิ่นในประเทศไทย'ในวารสารสถาบันพระปกเกล้า วารสารปีที่ 5 ฉบับที่ 3 เดือนกันยายน - ธันวาคม 2550. หน้า 11-18.

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก สถาบันพระปกเกล้า http://wiki.kpi.ac.th/index.php