การประชุมสภาท้องถิ่น

 

 

 

เรียบเรียงโดย  กฤษณ์  วงศ์วิเศษธร

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ.ดร.ปธาน สุวรรณมงคล



บทนำ': ความสำคัญของการประชุมสภาท้องถิ่น'

          องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยการปกครองที่ส่วนกลางได้กระจายอำนาจ ให้เป็นองค์กรที่มีสิทธิตาม กฎหมาย มีพื้นที่ และประชากรเป็นของ ตนเอง และมีอำนาจอิสระ(Autonomy) ในการปฏิบัติอย่างเหมาะสม[1] ซึ่งการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะขาดการประชุมสภาท้องถิ่นมิได้ เนื่องจากกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ระบุให้การประชุมสภาท้องถิ่นมีความสำคัญในการพิจารณาและให้ความเห็นชอบการออกข้อบัญญัติท้องถิ่น[2]  ซึ่งจะพบว่าการประชุมสภาท้องถิ่นมีความสำคัญอย่างยิ่งมิใช่แค่การออกข้อบัญญัติท้องถิ่นทั่วไปเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการออกข้อบัญญัติงบประมาณที่ใช้ในการบริการกิจการต่างๆในท้องถิ่นอีกด้วย นอกจากนี้การประชุมสภาท้องถิ่นยังมีส่วนสำคัญในการตรวจสอบการทำงานของผู้บริหารท้องถิ่น โดยในที่ประชุมสมาชิกสภาท้องถิ่นมีสิทธิตั้งกระทู้ถามฝ่ายบริหารเกี่ยวกับการทำงานในหน้าที่ได้[3]

          จึงกล่าวได้ว่า ส่วนสำคัญในการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นมิได้ทำงานแค่ฝ่ายใดฝ่ายเดียว แต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำงานได้จะต้องประกอบด้วย ผู้บริหารท้องถิ่น มาจากการเลือกตั้งจากประชาชนโดยตรง มีบทบาทเป็นผู้บริหารสูงสุด และสภาท้องถิ่น ที่มีสมาชิกสภาท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้งจากประชาชนในท้องถิ่นโดยตรง มีบทบาทเป็นองค์กรนิติบัญญัติ และข้าราชการท้องถิ่น ที่เป็นบุคคลทำงานประจำให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมีปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด[4] ซึ่งการที่แต่ละส่วนจะปฏิบัติงานได้นั้นแต่ละส่วนจำเป็นต้องทำงานภายใต้ระเบียบข้อบังคับตามที่กฎหมายกำหนดหรือให้อำนาจไว้ ในกรณีนี้การประชุมสภาท้องถิ่นถือได้ว่าเป็นสิ่งที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งจะต้องดำเนินการ และต้องทำให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด การประชุมสภาท้องถิ่นมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

 

ประเภทการประชุมสภาท้องถิ่น

การประชุมสภาท้องถิ่นที่ทั้งหมด 3 ประเภท ดังนี้

 1. การประชุมสภาครั้งแรก

          โดยมีปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นเลขานุการ สภาท้องถิ่นชั่วคราว และสมาชิกสภาท้องถิ่นผู้มีอายุมากที่สุดเป็นประธานสภาท้องถิ่นชั่วคราว เพื่อทำหน้าที่เป็นประธานที่ประชุมนำสมาชิกสภาท้องถิ่นปฏิญาณตน และเลือกประธานสภาท้องถิ่น[5] หลังจากมีการตั้งประธานสภาท้องถิ่นจึงถือว่าประธานสภาท้องถิ่นชั่วคราวพ้นจากตำแหน่ง[6]

          เมื่อมีประธานสภาท้องถิ่นแล้ว ให้สภาท้องถิ่นเลือกรองประธานสภาท้องถิ่น เลขานุการสภาท้องถิ่น และให้ประธานสภาท้องถิ่นนำปรึกษาในที่ประชุมเกี่ยวกับการประชุมสมัยสามัญ[7] โดยผู้มีหน้าที่กำหนดให้ประชุมครั้งแรกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแตกต่างกันดังนี้

องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และเมืองพัทยา ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้กำหนดการประชุมครั้งแรก[8]

องค์การบริหารส่วนตำบล ให้นายอำเภอเป็นผู้กำหนดการประชุมครั้งแรก[9]

กรุงเทพมหานคร ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้เรียกประชุม[10]

 

2. การประชุมสภาสามัญ

          การประชุมสามัญขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละรูปแบบจะกำหนดสมัยประชุม และวันประชุมตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นกำหนด ซึ่งแตกต่างกันไปดังนี้

องค์การบริหารส่วนจังหวัด ในปีหนึ่งให้มีสมัยประชุมสามัญสองสมัย[11]

เทศบาล ในปีหนึ่งให้มีสมัยประชุมสามัญสี่สมัย สมัยประชุมสามัญครั้งแรกและ วันเริ่มประชุมสมัยสามัญประจำปีให้สภาเทศบาลกำหนด[12]

องค์การบริหารส่วนตำบล ในปีหนึ่งให้มีสมัยประชุมสามัญสองสมัยหรือหลายสมัยแล้วแต่สภาองค์การบริหารส่วนตำบลจะกำหนด แต่ต้องไม่เกินสี่สมัย วันเริ่มสมัยประชุมสามัญประจำปีให้สภาองค์การบริหารส่วนตำบลกำหนด[13]

กรุงเทพมหานคร ในปีหนึ่งให้มีสมัยประชุมสามัญของสภากรุงเทพมหานครไม่น้อยกว่าสองสมัย แต่ ต้องไม่เกินสี่สมัย จำนวนสมัยประชุมสามัญและวันเริ่มสมัยประชุมสามัญประจำปีแต่ละสมัยให้สภา กรุงเทพมหานครกำหนด[14]

เมืองพัทยา ในปีปฏิทินหนึ่งให้มีสมัยประชุมสามัญของสภาเมืองพัทยาไม่น้อยกว่าสองสมัยแต่ต้องไม่เกินสี่สมัย จำนวนสมัยประชุมสามัญและวันเริ่มสมัยประชุมสามัญประจำปีแต่ละสมัยให้สภาเมืองพัทยากำหนด

ภายในสิบห้าวันนับแต่วันเลือกตั้งสมาชิกอันเป็นการเลือกตั้งทั่วไปให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเรียกประชุมสภาเมืองพัทยาครั้งแรก[15]

 

3. การประชุมวิสามัญ

          นอกจากสมัยประชุมสามัญแล้ว หากเห็นว่าเป็นการจำเป็นสภาท้องถิ่นอาจเรียกประชุมวิสามัญได้ โดยรายละเอียดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละรูปแบบแตกต่างกันไปดังนี้

องค์การบริหารส่วนจังหวัด ประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสามารถเรียกประชุมวิสามัญ หรือนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดจำนวน ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเท่าที่มีอยู่อาจทำคำร้องยื่น ต่อประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอให้เปิดการประชุมสมัยวิสามัญได้[16]

เทศบาล ประธานสภาเทศบาล, นายกเทศมนตรี หรือสมาชิกสภาเทศบาลมี จำนวนไม่ต่ำกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกที่อยู่ในตำแหน่งก็ดีอาจทำคำร้องยื่นต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ขอให้เปิดประชุมวิสามัญให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณา ถ้าเห็นสมควรก็ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเรียก ประชุมวิสามัญได้ สมัยประชุมวิสามัญให้มีกำหนดไม่เกินสิบห้าวัน แต่ถ้าจะขยายเวลาออกไปอีก จะต้องได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัด[17]

องค์การบริหารส่วนตำบล ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหรือสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลมีจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิก สภาองค์การบริหารส่วนตำบลทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ อาจทำคำร้องยื่นต่อนายอำเภอขอเปิดประชุมวิสามัญ ถ้าเห็นสมควรนายอำเภอเรียกประชุมวิสามัญได้[18]

กรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือสมาชิกสภามีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมด อาจทำคำร้องยื่นต่อประธานสภาขอให้เรียกประชุมสภากรุงเทพมหานครเป็นการประชุมสมัยวิสามัญได้ ให้ประธานสภาเรียกประชุมโดยกำหนดวันประชุมภายในสิบห้าวันนับแต่วันได้รับคำร้อง[19]

เมืองพัทยา นายกเมืองพัทยาหรือสมาชิกไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ อาจยื่นคำร้องต่อประธานสภาเมืองพัทยาขอให้เปิดประชุมสมัยวิสามัญได้ และให้ประธานสภาเมืองพัทยาเรียกประชุมสมัยวิสามัญโดยกำหนดวันประชุมภายในเจ็ดวัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้อง[20]

                    

องค์ประกอบของสภาท้องถิ่น

1. ประธานสภาท้องถิ่น

'1.1 'ที่มาประธานสภาท้องถิ่น ประธานสภาท้องถิ่นแต่ละประเภทมาจากการเลือกกันเองของสมาชิกสภา'[21]'

1.2 อำนาจหน้าที่ประธานสภาท้องถิ่น ประธานสภาท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(1) ดำเนินกิจการของสภาท้องถิ่นตามที่กฎหมายกำหนด

(2) เป็นประธานของที่ประชุมสภาท้องถิ่น เว้นแต่ในขณะที่เข้ากล่าวอภิปราย   สนับสนุนหรือคัดค้านญัตติ ในที่ประชุมสภาท้องถิ่น

(3) บังคับบัญชาการงานในสภาท้องถิ่น

(4) รักษาความสงบเรียบร้อยในสภาท้องถิ่น

(5) เป็นผู้แทนสภาท้องถิ่นในกิจการภายนอก

(6) อำนาจและหน้าที่อื่นตามที่มีกฎหมายกำหนด[22]

2. รองประธานสภาท้องถิ่น

2.1 ที่มารองประธานสภาท้องถิ่น รองประธานสภาท้องถิ่นแต่ละประเภทมาจากการเลือกกันเองของสมาชิกสภา'[23]'

2.2 อำนาจหน้าที่รองประธานสภาท้องถิ่น ช่วยเหลืองานของประธานสภา หรือทำงานตามที่ประธานสภามอบหมาย และเมื่อประธานสภาไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ก็ให้รอบประธานสภาปฏิบัติหน้าที่แทน[24]

3. เลขานุการสภาท้องถิ่น

3.1 ที่มาเลขานุการสภาท้องถิ่น 

เลขานุการสภาท้องถิ่นของ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล มาจากการเลือกกันเองของสมาชิกสภา'[25]'

เลขานุการสภากรุงเทพมหานครมาจากการแต่งตั้งของประธานสภากรุงเทพมหานคร[26] เลขานุการของสภาพัทยามาจากการแต่งตั้งของประธานสภาเมืองพัทยา[27]

3.2 อำนาจหน้าที่เลขานุการสภาท้องถิ่น

เลขานุการสภาท้องถิ่นของ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบลมีหน้าที่ดังต่อไปนี้

(1) แจ้งนัดประชุมสภาท้องถิ่นตามคำสั่งของประธานสภาท้องถิ่น

(2) ชี้แจงกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง หนังสือสั่งการ หรือแนวทาง ปฏิบัติซึ่งเกี่ยวข้องกับกิจการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อที่ประชุมสภาท้องถิ่น

(3) ช่วยเหลือประธานสภาท้องถิ่นจัดทำระเบียบวาระการประชุมสภาท้องถิ่น

(4) เชิญประธานสภาท้องถิ่นชั่วคราวปฏิบัติหน้าที่

(5) จัดทำรายงานการประชุมสภาท้องถิ่น

(6) เก็บรักษาข้อมูลข่าวสาร หรือเอกสารของสภาท้องถิ่น แต่จะเปิดเผยได้ต่อเมื่อ ได้รับ อนุญาตจากประธานสภาท้องถิ่น

(7) ช่วยเหลือประธานสภาท้องถิ่นในการควบคุมการนับคะแนนเสียง

(8) ช่วยเหลือประธานสภาท้องถิ่นในการรักษาความสงบเรียบร้อยในสภาท้องถิ่น

(9) หน้าที่อื่นตามที่กำหนดไว้ในระเบียบนี้หรือกระทำกิจการอื่นตามที่ประธานสภา ท้องถิ่นมอบหมาย[28]

เลขานุการประธานสภากรุงเทพมหานครมีอำนาจหน้าที่ดังนี้

(1) นัดประชุมสภาและคณะกรรมการ

(2) เชิญผู้เป็นประธานชั่วคราวของที่ประชุมสภาและที่ประชุมคณะกรรมการเข้าปฏิบัติหน้าที่

(3) ช่วยประธานในการควบคุมการนับคะแนนเสียง

(4) แจ้งระเบียบหรือหนังสือต่อที่ประชุมหรือต่อสมาชิก

(5) จัดทำรายงานการประชุมตามถ้อยคำที่อภิปราย และควบคุมการทำรายงานการประชุมทั้งปวง

(6) ยืนยันมติของสภาไปยังผู้ที่เกี่ยวข้อง

(7) รักษาสรรพเอกสารของสภา

(8) ควบคุมการเข้าออกในสภา

(9) ควบคุมกิจการให้เป็นไปตามระเบียบที่ประธานสภาจะได้กำหนด

(10) ปฏิบัติการตามที่ได้กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้

(11) ปฏิบัติการอื่นตามที่ประธานสภามอบหมาย[29]

เลขานุการประธานสภาพัทยา ช่วยเหลือกิจการตามที่ได้รับมอบหมาย[30]

 

การเรียกประชุมสภาท้องถิ่น

          การเรียกประชุมจะต้องทำหนังสือแจ้งให้สมาชิกสภาทราบล่วงหน้า ก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่าสามวันซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละรูปแบบมีวิธีการดังนี้[31]

          สำหรับองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารราชการส่วนตำบล ให้ประธานสภาท้องถิ่นทำหนังสือแจ้ง[32]

          สำหรับสภากรุงเทพมหานครจะประชุมสภานั้นต้องเป็นคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หรือประธานสภาแล้วแต่กรณี และให้เลขานุการสภาแจ้งล่วงหน้าเป็นหนังสือ[33]

 

การลงมติในการประชุมสภาท้องถิ่น

วิธีลงมติ

การออกเสียงลงคะแนนเพื่อลงมติมีสองวิธี คือ[34]

1. การออกเสียงลงคะแนนเปิดเผย มีวิธีการดังนี้

(1) ยกมือขึ้นพ้นศีรษะ

(2) ยืนขึ้น

(3) เรียกชื่อสมาชิกตามลำดับอักษรให้ออกเสียงลงคะแนนเป็นรายบุคคล[35]

 

          2. การออกเสียงลงคะแนนลับ ให้ดำเนินการดังนี้

2.1. สำหรับองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบลใช้วิธีเขียนเครื่องหมายบนแผ่นกระดาษใส่ซองที่เจ้าหน้าที่จัดให้ ดังนี้

(1) ผู้เห็นด้วยเขียนเครื่องหมายถูก

(2) ผู้ไม่เห็นด้วยให้เขียนเครื่องหมายกากบาทฃ

(3) ผู้ไม่ ออกเสียงให้เขียนเครื่องหมายวงกลม

ให้ประธานที่ประชุมเรียกชื่อสมาชิกสภาท้องถิ่นตามลำดับ อักษร มานำซองใส่ด้วยตนเองลงในหีบที่จัดไว้ต่อหน้าประธานที่ประชุม'[36]'

2.2. สำหรับกรุงเทพมหานครการออกเสียงลงคะแนนลับ มีวิธีปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้คือ

(1) เรียกชื่อสมาชิกเป็นรายบุคคลมาลงเบี้ยต่อหน้าประธาน ผู้เห็นด้วยให้ลงทะเบี้ยสีน้ำเงิน ผู้ไม่เห็นด้วยให้ลงเบี้ยสีแดง ส่วนผู้ที่ไม่ออกเสียงลงคะแนนให้ลงเบี้ยสีขาว

(2) เขียนเครื่องหมายบนแผ่นกระดาษใส่ซองตามที่เจ้าหน้าที่จัดให้แล้วนำมาส่งต่อประธานดังนี้

                     (ก) ผู้เห็นด้วยให้เขียนเครื่องหมายถูก

                     (ข) ผู้ไม่เห็นด้วยให้เขียนเครื่องหมายกากบาท

                     (ค) ผู้ที่ไม่ออกเสียงเสียงลงคะแนนให้เขียนเครื่องหมายศูนย์

(3) วิธีอื่นใดซึ่งที่ประชุมเห็นสมควรเฉพาะกรณี การเรียกชื่อสมาชิกให้มาลงคะแนน หรือนำกระดาษใส่ซองมาส่งนั้น ให้เรียกตามลำดับอักษรชื่อ[37]

3. การนับคะแนน การลงมติให้ถือเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ เว้นแต่มีกฎหมายบัญญัติเป็นอย่างอื่น ในกรณีที่มีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งโดยเปิดเผยเป็นเสียงชี้ขาด[38]

 

บรรณานุกรม

หนังสือ

อรทัย ก๊กผล, ธนิษฐา สุขะวัฒนะ. คู่มือสมาชิกสภาท้องถิ่น. กรุงเทพมหานคร: สถาบันพระปกเกล้า, 2551.

กฎหมาย

ข้อบังคับการประชุมสภากรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2541.

พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496.

พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528.

พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2542.

พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537.

พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540

ระเบียบกระทรวงมหาไทยว่าด้วยข้อบังคับการประชุมสภาท้องถิ่น พ.ศ. 2547.

 

อ้างอิง

[1] อรทัย ก๊กผล ธนิษฐา, สุขะวัฒนะ, คู่มือสมาชิกสภาท้องถิ่น (กรุงเทพมหานคร: สถาบันพระปกเกล้า, 2551), น. 15.

[2]  ข้อบังคับการประชุมสภากรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2541 ข้อ 44

   พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2542 มาตรา 70

   ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยข้อบังคับการประชุมสภาท้องถิ่น พ.ศ. 2547 ข้อ 45.

 

[3]  พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 มาตรา 31.

   พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 มาตรา 36.

   พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2542 มาตรา 36.

   พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 มาตรา 56/1.

   พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 มาตรา 31.

[4] อรทัย ก๊กผล ธนิษฐา, สุขะวัฒนะ, คู่มือสมาชิกสภาท้องถิ่น, น. 29.

[5] ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยข้อบังคับการประชุมสภาท้องถิ่น พ.ศ. 2547 ข้อ 7. 

[6] ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยข้อบังคับการประชุมสภาท้องถิ่น พ.ศ. 2547 ข้อ 10.

[7] ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยข้อบังคับการประชุมสภาท้องถิ่น พ.ศ. 2547 ข้อ 11. 

[8] ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยข้อบังคับการประชุมสภาท้องถิ่น พ.ศ. 2547 ข้อ 6

  พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2542 มาตรา 29.

[9] ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยข้อบังคับการประชุมสภาท้องถิ่น พ.ศ. 2547 ข้อ 6.

[10] พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528  มาตรา 30. 

[11] พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540  มาตรา 22.  

[12] พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 มาตรา 24.

[13] พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 มาตรา 53. 

[14] พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 มาตรา 30 วรรค 2. 

[15] พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2542 มาตรา 29 วรรค 2.

[16] พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 มาตรา 25. 

[17] พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 มาตรา 26.

[18] พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 มาตรา 55.

[19] พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 มาตรา 31.

[20] พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2542 มาตรา 30.

[21]พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 มาตรา 25

  พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ.2542 มาตรา 22 

  ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยข้อบังคับการประชุมสภาท้องถิ่น พ.ศ.2547 ข้อ 8.

[22] ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยข้อบังคับการประชุมสภาท้องถิ่น พ.ศ.2547 ข้อ 16

   ข้อบังคับการประชุมสภากรุงเทพมหานคร พ.ศ.2541 ข้อ 10. 

[23] พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 มาตรา 25

   พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2542 มาตรา 22

   ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยข้อบังคับการประชุมสภาท้องถิ่น พ.ศ. 2547 ข้อ 12.

[24] พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 มาตรา 27 วรรค 2

   พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2542 มาตรา 26 วรรค 2

    ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยข้อบังคับการประชุมสภาท้องถิ่น พ.ศ. 2547 ข้อ 17.

[25] ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยข้อบังคับการประชุมสภาท้องถิ่น พ.ศ. 2547 ข้อ 13.

[26] พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 มาตรา 28.

[27] พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ.2542 มาตรา 27.

[28] ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยข้อบังคับการประชุมสภาท้องถิ่น พ.ศ. 2547 ข้อ 19.

[29] ข้อบังคับการประชุมสภากรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2541 ข้อ 12.

[30] พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2542 มาตรา 27.

[31] ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยข้อบังคับการประชุมสภาท้องถิ่น พ.ศ. 2547 ข้อ 22.

[32] ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยข้อบังคับการประชุมสภาท้องถิ่น พ.ศ. 2547 ข้อ 22.

[33] ข้อบังคับการประชุมสภากรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2541 ข้อ 18.

[34] ข้อบังคับการประชุมสภากรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2541 ข้อ 71

    ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยข้อบังคับการประชุมสภาท้องถิ่น พ.ศ. 2547 ข้อ 73.    

[35] ข้อบังคับการประชุมสภากรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2541 ข้อ 72

    ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยข้อบังคับการประชุมสภาท้องถิ่น พ.ศ. 2547 ข้อ 74.    

[36] ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยข้อบังคับการประชุมสภาท้องถิ่น พ.ศ. 2547 ข้อ 74.    

[37] ข้อบังคับการประชุมสภากรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2541 ข้อ 73.

[38] ข้อบังคับการประชุมสภากรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2541 ข้อ 79

   พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2542 มาตรา 33 

   ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยข้อบังคับการประชุมสภาท้องถิ่น พ.ศ. 2547 ข้อ 86.

 

ขอบคุณข้อมูลจาก สถาบันพระปกเกล้า http://wiki.kpi.ac.th/index.php