ความรู้เกี่ยวกับ พ.ร.บ.ภาษีป้าย

ความรู้เกี่ยวกับ พ.ร.บ.ภาษีป้าย พ.ศ.2510

 

ความหมายของ ป้ายที่ต้องเสียภาษี

   *ป้ายที่แสดงชื่อ ยี่ห้อหรือเครื่องหมายที่ใช้ในการประกอบการค้าหรือประกอบกิจการอื่น

   *เพื่อหารายได้ หรือโฆษณาการค้า หรือกิจการอื่นเพื่อหารายได้

   *แสดงหรือโฆษณาไว้ที่วัตถุใดๆ ด้วยอักษรภาพ หรือเครื่องหมายที่เขียน แกะสลัก จารึกหรือทำให้ปรากฏด้วยวิธีอื่น

   *ไม่เป็นป้ายที่ได้รับการยกเว้นภาษีป้าย

 

การยื่นแบบ (ภ.ป.1)

1.ป้ายเดิม ยื่นแบบแจ้งแสดงรายการเสียภาษีป้าย (ภ.ป.1) ภายในเดือนมีนาคมของทุกปี

2.ป้ายใหม่ ยื่นแบบ (ภ.ป.1) ภายใน 15 วัน นับแต่

     2.1 ติดตั้งหรือแสดงป้ายภายหลังเดือนมีนาคม

     2.2 ติดตั้งหรือแสดงป้ายใหม่แทนป้ายเดิม และมีพื้นที่ข้อความ ภาพ และเครื่องหมายอย่างเดียวกับป้ายเดิมที่ได้เสียภาษีป้ายเพิ่มขึ้น

3.กรณีที่มีการโอนป้าย ให้ผู้รับโอนแจ้งการรับโอนป้ายภายใน 30 วันนับแต่วันรับโอน

4.กรณีที่ไม่ปรากฏตัวเจ้าของป้าย ให้ถือว่าผู้ครอบครองป้ายนั้น หรือผู้ครอบครองอาคารที่ดินที่ป้ายนั้นติดตั้ง หรือแสดงอยู่เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้ายตามลำดับ

มกราคม มีนาคม ของทุกปี

 

ชำระค่าภาษี

ต้องชำระค่าภาษีป้าย ตามที่เจ้าพนักงานประเมิน ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน อาจชำระโดย

     1.เงินสด ณ งานพัฒนารายได้ กองคลัง เทศบาลตำบลโพธิ์ทอง อำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด

     2.ตั๋วแลกเงินของธนาคาร หรือเช็คที่ธนาคารรับรอง โดยสั่งจ่ายในนาม เทศบาลตำบลโพธิ์ทอง อำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด

     3.กรณีสั่งจ่ายโดยตั๋วแลกเงินไปรษณีย์ หรือธนาณัติโปรดสั่งจ่ายในนาม เทศบาลตำบลโพธิ์ทอง อำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด พร้อมสอดซองเปล่าติดแสตมป์ จ่าหน้าซองที่อยู่ของท่าน เพื่อที่จะได้ส่งใบเสร็จรับเงินไปตามที่อยู่ดังกล่าว

 

ป้ายเดิม ชำระเป็นรายปี (ม.ค. มี.ค. ทุกปี)

ป้ายใหม่ ชำระตั้งแต่วันเริ่มติดตั้ง หรือแสดงจนถึงวันสิ้นปี และให้คิดภาษีป้ายเป็นรายงวดๆ ละ 3 เดือน เริ่มเสียตั้งแต่งวดที่ติดตั้งป้าย จนถึงงวดสุดท้าย

 

ชำระค่าภาษีป้าย

การผ่อนชำระ

ถ้าภาษีป้ายมีจำนวนมากกว่า 3,000 บาทขึ้นไปจะขอผ่อนชำระเป็น 3 งวดๆ ละเท่าๆ กันก็ได้ โดยแจ้งความจำนงเป็นหนังสือต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ก่อนครบกำหนดเวลาชำระภาษีดังนี้

   งวดที่1 ชำระก่อนครบกำหนดเวลาชำระภาษี

   งวดที่2 ภายใน 1 เดือน นับแต่วันสุดท้ายที่ต้องชำระงวดที่1

   งวดที่3 ภายใน 1 เดือน นับแต่วันสุดท้ายที่ต้องชำระงวดที่2

     ถ้าผู้ขอผ่อนชำระไม่ชำระภาษีป้ายงวดหนึ่งงวดใดภายในกำหนดเวลาดังกล่าวข้างต้น ให้หมดสิทธิ์ที่จะขอผ่อนชำระภาษี และให้เสียเงินเพิ่มร้อยละสองต่อเดือน ของจำนวนเงินที่ต้องเสียภาษีป้าย เศษของ 1 เดือน ให้นับเป็น 1 เดือน

 

การขอรับภาษีป้ายคืน

     1.ผู้ใดเสียภาษีป้าย โดยไม่มีหน้าที่ต้องเสียหรือเสียเกินกว่าที่ควรต้องเสีย ผู้นั้นมีสิทธิ์ได้รับเงินคืน

     2.การขอรับเงินคืน ให้ยื่นคำร้องต่อนายกเทศมนตรีภายใน 1 ปี นับแต่วันที่เสียภาษีป้ายในกรณีนี้ให้ยื่นคำร้อง ส่งเอกสาร หลักฐาน หรือคำชี้แจงใดๆ ประกอบคำร้องด้วย

 

การเสียเงินเพิ่ม

     1.ไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้าย (ภ.ป.1) ภายในเดือนมีนาคม ให้เสียเงินเพิ่มร้อยละ 10 ของจำนวนเงินที่ต้องเสียภาษีป้าย เว้นแต่กรณีที่เจ้าของป้ายได้ยื่นแบบ (ภ.ป.1) ก่อนที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะแจ้งให้ทราบถึงการละเว้นนั้น ให้เสียเงินเพิ่มร้อยละ 5 ของจำนวนเงินที่เสียภาษีป้าย

     2.ยื่นแบบ (ภ.ป.1) ไม่ถูกต้องทำให้จำนวนเงินที่ต้องเสียภาษีป้ายลดน้อยลง ให้เสียเงินเพิ่มร้อยละ 10 ของป้ายที่ประเมินเพิ่มเติม

     3.ไม่ชำระภาษีป้ายภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับใบแจ้งการประเมิน ให้เสียเงินเพิ่มร้อยละ 2 ต่อเดือน ของจำนวนเงินที่ต้องเสียภาษีป้าย เศษของเดือนให้นับเป็น 1 เดือน ทั้งนี้ไม่ให้นำเงินเพิ่มตามข้อ 1 และข้อ 2 ข้างต้น มาคำนวณเป็นเงินเพิ่มตามกรณี

 

บทกำหนดโทษ

     1.ผู้ใดโดยรู้แล้วหรือจงใจแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ให้ถ้อยคำเท็จ ตอบคำถามอันเป็นเท็จ หรือนำพยานหลักฐานเท็จมาแสดง เพื่อหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีป้าย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 5,000 – 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

     2.ผู้ใดจงใจไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีต้องระวางโทษปรับ ตั้งแต่ 5,000 – 50,000 บาท

     3.ป้ายที่ติดตั้งบนอสังหาริมทรัพย์ ของบุคคลอื่น และมีพื้นที่เกิน 2 ตารางเมตร ต้องมีชื่อและที่อยู่ของเจ้าของป้ายเป็นอักษรไทยที่ชัดเจนที่มุมขวาด้านล่างของป้าย ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวง

     ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษปรับวันละ 100 บาท เรียงรายวันตลอดระยะเวลาที่กระทำความผิด

     4.ผู้ใดไม่แจ้งการรับโอนป้ายต้องระวางโทษปรับ ตั้งแต่ 1,000 – 10,000 บาท

     5.ให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้าย แสดงหลักฐานการเสียภาษีป้ายไว้ ณ ที่เปิดเผยในสถานที่ประกอบการค้า หรือประกอบกิจการ

     ผู้ใดไม่แสดงการเสียภาษีป้าย ต้องระวางโทษปรับ ตั้งแต่ 1,000 – 10,000 บาท

     6.ในการปฏิบัติหน้าที่ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจดังต่อไปนี้

       6.1เข้าไปในสถานที่ประกอบการค้าหรือประกอบกิจการอื่น เพื่อหารายได้ของผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้าย หรือบริเวณที่ต่อเนื่องกับสถานที่ดังกล่าว หรือสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีป้าย ในระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก หรือในเวลาทำการ เพื่อตรวจสอบว่าผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้ายได้ปฏิบัติถูกต้องตาม พ.ร.บ.ภาษีป้าย

       6.2ออกคำสั่งเป็นหนังสือ เรียกผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้าย มาให้ถ้อยคำหรือให้ส่งบัญชีหรือเอกสารเกี่ยวกับภาษีป้าย ภายในกำหนดเวลาอันสมควร

     ผู้ใดขัดขวาง การปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 1,000 – 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

     7.ในกรณีที่ผู้กระทำผิด ซึ่งต้องรับโทษตามพระราชบัญญัติ เป็นนิติบุคคล กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือผู้แทนของนิติบุคคลนั้น ต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นๆ ด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้รู้เห็นหรือยินยอม ในการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น

 

กฎกระทรวง

ฉบับที่5 (พ.ศ.2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ.2510

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ.2510 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติภาษีป้าย (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2534 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ออกกฎกระทรวงไว้โดยให้กำหนดอัตราภาษีป้ายดังต่อไปนี้

1.ป้ายที่มีอักษรไทยล้วน ให้คิดอัตรา 3 บาท/500 ตร.ซม.

2.ป้ายที่มีอักษรไทยปนกับอักษรต่างประเทศและหรือปนกับภาษาและหรือเครื่องหมายอื่น ให้คิดอัตรา 20 บาท/500 ตร.ซม.

3.ป้ายดังต่อไปนี้ ให้คิดอัตรา 40 บาท/ 500 ตร.ซม.

   - ป้ายที่ไม่มีอักษรไทย ไม่ว่าจะมีภาพ หรือเครื่องหมายใดๆ หรือไม่

   - ป้ายที่มีอักษรไทยบางส่วน หรือทั้งหมดอยู่ใต้หรือต่ำกว่าอักษรต่างประเทศ

4.ป้ายที่เปลี่ยนแปลงแก้ไขตามมาตรา 14 (3) ให้คิดอัตราตาม (1) (2) หรือ (3) แล้วแต่กรณีและให้เสียเฉพาะจำนวนเงินภาษีที่เพิ่มขึ้น

5.ป้ายตาม (1) (2) หรือ (3) เมื่อคำนวณพื้นที่ของป้ายแล้ว ถ้ามีอัตราที่ต้องเสียภาษีต่ำกว่าป้ายละ 200 บาท ให้เสียภาษีป้ายละ 200 บาท

 

• งานพัฒนารายได้ กองคลัง เทศบาลตำบลโพธิ์ทอง อำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด