ความรู้เกี่ยวกับ พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน

ความรู้เกี่ยวกับ พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2534

 

ภาษีโรงเรือนและที่ดินคืออะไร 

     ภาษีโรงเรือนและที่ดิน หมายถึง ภาษีที่จัดเก็บจากโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นๆ กับที่ดินที่ใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างนั้น

ทรัพย์สินใด อยู่ในข่ายต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินหรือไม่ 

     มีหลักในการพิจารณาดังนี้

     1.ต้องมีทรัพย์สินอันได้แก่โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นๆ กับที่ดินซึ่งใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างนั้นและ

     2.ต้องไม่เข้าบทยกเว้นภาษีตาม พ.ร.บ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน

ผู้มีหน้าที่ยื่นแบบ (ภ.ร.ด.2)

     1.หากเจ้าของทรัพย์สินอันได้แก่ โรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น และที่ดิน เป็นเจ้าของเดียวกัน เจ้าของทรัพย์สินนั้นก็เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษี

     2.แต่ถ้าที่ดินและโรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นๆ เป็นคนละเจ้าของ กฎหมายกำหนดให้เจ้าของโรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นๆ ต้องเป็นผู้เสียภาษี

มกราคม – กุมภาพันธ์ ของทุกปี

ยื่นแบบ (ภ.ร.ด. 2)

     ยื่นแบบแจ้งแสดงรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด.2) ภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี

ชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดิน

     ต้องชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภายใน 30 วัน นับแต่วันถัดจากวันที่ได้รับแจ้ง การประเมิน (ภ.ร.ด.8) อาจชำระโดย

     1.เงินสด ณ งานพัฒนารายได้ กองคลัง เทศบาลตำบลโพธิ์ทอง อำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด

     2.ตั๋วแลกเงินของธนาคาร หรือเช็คที่ธนาคารรับรอง โดยสั่งจ่ายในนาม เทศบาลตำบลโพธิ์ทอง อำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด

     3.กรณีสั่งจ่ายโดยตั๋วแลกเงิน ไปรษณีย์ หรือธนาณัติ โปรดสั่งจ่ายในนาม เทศบาลตำบลโพธิ์ทอง อำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด พร้อมสอดซองเปล่าติดแสตมป์จ่าหน้าซองถึงตัวท่านเอง โดยส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน

การอุทธรณ์ค่าภาษีโรงเรือน

     ถ้าผู้รับประเมิน ไม่พอใจการประเมินภาษี โรงเรือนฯ ให้ยื่นคำร้องขออุทธรณ์ (ภ.ร.ด.9) ต่อผู้บริหารท้องถิ่นภายในกำหนด 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน (ภ.ร.ด.8) ถ้ายื่นอุทธรณ์เกินกว่า 15 วัน จะหมดสิทธิ์ให้พิจารณาการประเมินใหม่ และจำนวนค่าภาษีซึ่งประเมินไว้นั้นถือเป็นจำนวนเด็ดขาด ห้ามไม่ให้นำคดีขึ้นสู่ศาล

ศาลภาษีอากร ม.31

     ถ้าผู้รับประเมินยังไม่พอใจในคำชี้ขาดของคณะผู้บริหาร มีสิทธิ์นำคดีขึ้นสู่ศาลจังหวัด หรือศาลภาษีอากรกลางกรุงเทพฯ เพื่อแสดงให้ศาลเห็นว่าการประเมินนั้นไม่ถูกต้องก็ได้ แต่ต้องกระทำภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันทราบคำชี้ขาด มิฉะนั้นจะหมดสิทธิ์นำคดีขึ้นสู่ศาล

การบังคับชำระค่าภาษี

     ถ้าไม่ชำระค่าภาษี และเงินเพิ่ม ภายใน 4 เดือน นับแต่วันที่ครบกำหนด 30 วัน นายกเทศมนตรีอาจสั่งเป็นหนังสือให้ยึดอายัด หรือขายทอดตลาดทรัพย์สิน ของผู้ซึ่งค้างชำระค่าภาษีเพื่อนำเงินมาชำระค่าภาษี ค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายอื่นๆ โดยมิต้องขอให้ศาลสั่ง หรือออกหมายยึดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งโดยอนุโลม

การเสียเงินเพิ่ม

     ถ้าค่าภาษีมิได้ชำระภายในกำหนด 30 วัน ต้องเสียเงินเพิ่มดังนี้

     1.ถ้าชำระไม่เกิน 1 เดือน นับแต่วันพ้นกำหนดเพิ่มร้อยละ 2.50 ของค่าภาษีที่ค้าง

     2.ถ้าเกิน 1 เดือน แต่ไม่เกิน 2 เดือน เพิ่มร้อยละ 5 ของค่าภาษีที่ค้าง

     3.ถ้าเกิน 2 เดือน แต่ไม่เกิน 3 เดือน เพิ่มร้อยละ 7.50 ของค่าภาษีที่ค้าง

     4.ถ้าเกิน 3 เดือน แต่ไม่เกิน 4 เดือน เพิ่มร้อยละ 10 ของค่าภาษีที่ค้าง

หลักการประเมินค่าภาษี

     พนักงานเจ้าหน้าที่ จะประเมินค่าภาษีในอัตราร้อยละ 12.5 ของค่ารายปี

     ค่ารายปี หมายถึง จำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้นสมควรให้เช่าได้ในปีหนึ่งๆ

     กรณีให้เช่า ให้ถือค่าเช่าคือค่ารายปีพนักงานเจ้าหน้าที่ จะประเมินค่ารายปีโดยเทียบเคียงกับค่ารายปีของทรัพย์สิน ที่ให้เช่าที่มีลักษณะของทรัพย์สิน ขนาดพื้นที่ ทำเลที่ตั้งและบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์คล้ายคลึงกันในเขตเทศบาลนั้น

การแจ้งประเมินย้อนหลัง

     กรณีผู้รับประเมินไม่ยื่นแบบแสดงรายการทรัพย์สินเพื่อเสียภาษี หรือยื่นแบบ (ภ.ร.ด.2) ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่สมบูรณ์ พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจประเมินย้อนหลัง ดังนี้

     1.ไม่ยื่นแบบ (ภ.ร.ด.2) ประเมินย้อนหลังได้ไม่เกิน 10 ปี

     2.ยื่นแบบพิมพ์ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่สมบูรณ์ ประเมินย้อนหลังได้ไม่เกิน 5 ปี

ความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ. ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475

     ม.46 ผู้ใดละเลยไม่ยื่นแบบ (ภ.ร.ด.2) เว้นแต่จะเป็นด้วยเหตุสุดวิสัย มีโทษปรับไม่เกินสองร้อยบาท

     ม.47 ผู้ใด โดยรู้อยู่แล้ว หรือจงใจละเลยไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกของพนักงานเจ้าหน้าที่ ไม่แจ้งรายการเพิ่มเติมละเอียดยิ่งขึ้นเมื่อเรียกร้อง ไม่นำพยานหลักฐานมาแสดงหรือไม่ตอบคำถามเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ซักถามมีโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท

     ม.48 ผู้ใด

     ก.โดยรู้อยู่แล้วหรือจงใจยื่นข้อความเท็จ หรือให้ถ้อยคำเท็จ หรือตอบคำถามด้วยคำอันเป็นเท็จ หรือนำหลักฐานเท็จมาแสดงเพื่อหลีกเลี่ยงหรือจัดหาทางให้ผู้อื่นหลีกเลี่ยง การคำนวณค่ารายปีแห่งทรัพย์สินของตน

     ข.โดยความเท็จ โดยเจตนา ละเลย โดยฉ้อโกง โดยอุบาย โดยวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใดทั้งสิ้นที่จะหลีกเลี่ยง หรือพยายามหลีกเลี่ยงการคำนวณค่ารายปีแห่งทรัพย์สินของตน มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกินห้าร้อยบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างที่จะต้องยื่นแบบแจ้งแสดงรายการเพื่อเสียภาษี (ภ.ร.ด.2)

√ เป็นที่ให้เช่า

√ เป็นที่ประกอบการค้า

√ เป็นที่ไว้สินค้า

√ เป็นที่ประกอบอุตสาหกรรม

√ เป็นที่ให้ญาติ พ่อ แม่ พี่ น้อง บุตรหรือผู้อื่นอยู่พักอาศัย

 

• งานพัฒนารายได้ กองคลัง เทศบาลตำบลโพธิ์ทอง อำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด