เรียบเรียงโดย  ดร. เอกพลณัฐ  ณัฐพัทธนันท์

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ.ดร.ปธาน สุวรรณมงคล


แนวคิดและหลักการที่เกี่ยวข้อง

          การเลือกตั้งท้องถิ่น (Local Election) หมายถึง การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น เข้าไปบริหารงานในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือรัฐบาลท้องถิ่น (Local Government)  โดยมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งดังกล่าว จะเป็นพลเมืองซึ่งอาศัยอยู่ในเขตปกครองท้องถิ่น ตั้งแต่ในระดับเมืองหรือจังหวัดต่ำลงมา โดยมีชื่อเรียกเขตการปกครองท้องถิ่นแตกต่างกันไปตามแต่ละประเทศ ในไทยจะมีเขตการปกครอง ตัวอย่างเช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และเทศบาล  แต่ในสหรัฐอเมริกาจะมีเขตการปกครอง ตัวอย่างเช่น เคาน์ตี้ (County) เทศบาล (Municipal) ทาวน์/ทาวน์ชิพ (Town/Township) เป็นต้นการเลือกตั้งท้องถิ่นจึงเป็นช่องทางหนึ่งของการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนในระดับท้องถิ่นตามสิทธิขั้นพื้นฐาน โดยการเลือกตัวแทนของตนเข้าไปใช้อำนาจตัดสินใจทางการเมือง ซึ่งเกิดขึ้นภายใต้ข้อจำกัดของการมีประชากรจำนวนมากและมีพื้นที่เขตการปกครองที่มีขนาดใหญ่ จึงทำให้การใช้อำนาจของประชาชนด้วยตนเองโดยตรง เพื่อทำการตัดสินใจทางนโยบายและการบริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นเรื่องในชีวิตประจำวันโดยทั่วไปทำไม่ได้ในทางปฏิบัติแต่การเลือกตั้งท้องถิ่นก็ไม่ใช่ทั้งหมดของความเป็นประชาธิปไตยที่มีอยู่ เพราะการปกครองท้องถิ่นตามหลักการสากลจะให้ความสำคัญกับการปกครองตนเองของประชาชนในท้องถิ่นตามหลักประชาธิปไตยทางตรง (Direct Democracy) เพื่อให้ผลลัพธ์ที่ได้เป็นประโยชน์ตกอยู่กับประชาชนในท้องถิ่นโดยตรง จากการร่วมคิดร่วมทำกิจการสาธารณะด้วยตนเองอย่างมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้[1] ประชาชนในท้องถิ่นจึงไม่ควรมีบทบาทเพียงแค่ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งท้องถิ่นเท่านั้น แต่ต้องมีบทบาทติดตามและตรวจสอบการทำงานของตัวแทนและฝ่ายบริหารในระดับท้องถิ่น ที่ได้รับเลือกตั้งเข้าไปบริหารงานองค์กรปกครองท้องถิ่นหรือรัฐบาลท้องถิ่นเพราะมีความใกล้ชิดกับประชาชนในท้องถิ่นโดยตรง[2]

 

ความสำคัญของการเลือกตั้งท้องถิ่น

          การเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นตัวชี้วัดสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงสถานะของผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือรัฐบาลท้องถิ่น และยังเป็นเครื่องชี้วัดคุณภาพของประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่นได้ในหลากหลายมิติ ดังเช่น การตรวจสอบความสนใจของประชาชนที่มีต่อการเลือกตั้งจากประชาชนในท้องถิ่นว่ามีสูงมากเพียงใด โดยเปรียบเทียบได้จากระดับการมีส่วนร่วมในการใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของประชาชนในท้องถิ่น ความเข้มข้นในการแข่งขันและช่วงชิงที่นั่งในสภาท้องถิ่นของผู้สมัครลงแข่งขันรับเลือกตั้งท้องถิ่น  บทบาทของผู้สมัครรับเลือกตั้งท้องถิ่น ทั้งที่สังกัดพรรคการเมืองที่มีขนาดใหญ่และขนาดเล็ก รวมถึงบทบาทผู้สมัครรับเลือกตั้งท้องถิ่นที่ไม่สังกัดพรรคการเมือง  ฯลฯ[3]  ผลการเลือกตั้งท้องถิ่นสามารถแสดงถึงการตอบสนองของประชาชนในท้องถิ่น ที่มีต่อนโยบายที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งในท้องถิ่นใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งจะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงทิศทางของนโยบายในการพัฒนาท้องถิ่นที่มีอยู่เดิม ให้มีความสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น ซึ่งประเด็นที่ใช้ในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นนี้ อาจจะมีความสอดคล้องหรือแตกต่างจากประเด็นนโยบายที่มีอยู่ในการเมืองระดับชาติก็ได้

 

การศึกษาการเลือกตั้งท้องถิ่นในเชิงเปรียบเทียบระหว่างไทยและต่างประเทศ

          การเลือกตั้งทางตรง (Direct Election) ถือเป็นประเด็นศึกษาสำคัญที่ได้รับความสนใจทั้งในไทยและต่างประเทศเพราะการปกครองท้องถิ่นในระดับสากล ให้ความสำคัญแตกต่างไปจากหลักการประชาธิปไตยในระดับชาติ โดยเฉพาะเรื่องหลักการปกครองตนเองในท้องถิ่น การมีส่วนร่วมของประชาชนจึงมีความสำคัญมาก แต่ในกรณีของการบริหารงานท้องถิ่นโดยตรงด้วยตัวประชาชนเองนั้นเป็นข้อจำกัดของประชาธิปไตยสมัยใหม่  ดังนั้น การเลือกตั้งผู้บริหารโดยตรงในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงเป็นสิ่งที่ถูกใช้ชดเชยข้อจำกัดดังกล่าว ที่ผ่านมาการศึกษาการเลือกตั้งท้องถิ่นในสหรัฐอเมริกาได้รับความสนใจอย่างมากเพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหน่วยการปกครองส่วนใหญ่ของสหรัฐอเมริกาที่มีแต่จะเพิ่มจำนวนสูงขึ้น[4] จากข้อมูลในปี ค.ศ. 2007 พบว่า หน่วยงานด้านการปกครอง (governmental unit) ของสหรัฐอเมริกา จำนวนทั้งสิ้น 89,527 หน่วยงาน คิดเป็นหน่วยงานด้านการปกครองท้องถิ่น (local government) จำนวนมากถึง 89,476 แห่ง (คิดเป็นร้อยละ 99.9)[5]  และเมื่อพูดถึงจำนวนของบุคลากรและผู้บริหารที่ได้รับการเลือกตั้งโดยตรงเข้ามาดำรงตำแหน่งในหน่วยงานปกครองท้องถิ่น จึงไม่น่าแปลกใจที่จะมีจำนวนสูงมากจากข้อมูลที่เผยแพร่ในปี ค.ศ. 1995 ของสำนักสำมะโนประชากรสหรัฐอเมริกาสำรวจในปี ค.ศ. 1992 พบว่ามีบุคลากรที่มาจากการเลือกตั้งท้องถิ่นทั้งหมด 493,830 คน ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในหน่วยการปกครองท้องถิ่นประเภทเทศบาล (Municipal) และหน่วยการปกครองท้องถิ่นประเภททาวน์/ทาวน์ชิพ คิดเป็นร้อยละ 27 และร้อยละ 26 ตามลำดับ และโดยส่วนใหญ่บุคลากรที่ได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน จะทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัติเป็นจำนวนสูงที่สุด รองลงมาจะเป็นหน้าที่ด้านการบริหารและด้านตุลาการ[6]  ในขณะที่ข้อมูลจากสำนักสำมะโนประชากรสหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ. 2007 พบว่า มีบุคลากรที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงในท้องถิ่น คิดเป็นร้อยละ 96 ของจำนวนบุคลากรหน่วยงานด้านการปกครองทั้งหมด (ส่วนที่เหลือทำงานในหน่วยงานด้านการปกครองระดับมลรัฐและสหพันธรัฐ) โดยมีสัดส่วนของบุคลากรจากเทศบาลจำนวนสูงที่สุด คิดเป็นร้อยละ 27 จากบุคลากรที่มาจากการเลือกตั้งท้องถิ่นทั้งหมดการศึกษาการเลือกตั้งท้องถิ่นของสหรัฐอเมริกาจึงมีประเด็นการศึกษาที่หลากหลาย เพราะการเลือกตั้งท้องถิ่นของสหรัฐอเมริกามีหลายรูปแบบ มีการจัดการเลือกตั้งหลายรูปแบบ และวาระการดำรงตำแหน่งก็มีต่างกัน ซึ่งต่างจากการเลือกตั้งในระดับประเทศ ตัวอย่างเช่น การเลือกตั้งท้องถิ่นโดยตรงเข้าสู่สภาเมือง (city council elections) จำนวนร้อยละ 66 จะใช้รูปแบบเขตเดียวหลายเบอร์ (multi-member) สูงมากกว่ารูปแบบเขตเดียวเบอร์เดียว (single-member)  นอกจากนี้ มีเมืองจำนวนร้อยละ 77 นิยมใช้เกณฑ์การไม่ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้ง สังกัดพรรคการเมืองในการเลือกตั้งท้องถิ่นอีกด้วย[7]  จึงทำให้การเลือกตั้งท้องถิ่นของสหรัฐอเมริกามีความน่าสนใจมากกว่าการทำความเข้าใจอย่างง่ายๆในการศึกษาการแข่งขันการเลือกตั้งระหว่างผู้ที่อยู่ในตำแหน่งกับผู้ที่มาท้าชิงตำแหน่ง

          ขณะที่การเลือกตั้งท้องถิ่นในไทยซึ่งเป็นการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นโดยตรง เกิดขึ้นช่วงกลางพุทธทศวรรษที่ 2540 ที่เริ่มมีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างจริงจังและประกาศใช้กฎหมายลูก คือ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ฉบับแรกปี 2545 และฉบับที่ 2 ปี พ.ศ. 2546 รวมถึงกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้องจนกระทั่งนำมาสู่การเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นโดยตรงทุกระดับเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ดังที่จะกล่าวถึงในรายละเอียดอีกครั้งในหัวข้อถัดไป    การเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นโดยตรงของไทยเกิดขึ้นครั้งแรกในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร วันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2518 โดยผู้ชนะการเลือกตั้งคือ นายธรรมนูญ เทียนเงิน และคณะ ได้รับคะแนนเสียง 99,247 คะแนน ซึ่งได้คะแนนมากกว่าคู่แข่งขันที่ได้ลำดับที่ 2 คือนายอาทิตย์ อุไรรัตน์ และคณะจำนวน 7,569 คะแนน[8]และต่อมาก็มีการยกเลิกการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯโดยตรงไปและเปลี่ยนมาใช้การแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่ง จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2528 ที่มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครอีกครั้ง ซึ่งผู้ได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนสูงสุด จำนวน 480,233 คะแนน คือ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ทิ้งห่างผู้ที่ได้คะแนนอันดับที่ 2 สูงมากถึง 1 เท่าตัว จากผลคะแนนเลือกตั้งดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความตื่นตัวในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในกรุงเทพฯที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก หลังจากนั้นก็มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครโดยตรงอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่ได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนสูงเกินกว่า 1 ล้านคะแนนเป็นคนแรกคือ นายสมัคร สุนทรเวช ได้คะแนน 1,016,096 คะแนน ทิ้งห่างคู่แข่งที่มาเป็นอันดับสอง คือ นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เกือบหนึ่งเท่าตัวในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครครั้งที่ 6ซึ่งมีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งหมด 2,247,308 คน คิดเป็นร้อยละ 58.87 จากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 3,817,456 คน[9]

          นอกจากประเด็นการแข่งขันการเลือกตั้งท้องถิ่นโดยตรงในกรุงเทพมหานครดังกล่าวแล้ว การศึกษาการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ผ่านมาจะเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการไปใช้สิทธิเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่น การซื้อสิทธิ์ขายเสียง การใช้อิทธิพลของนักการเมืองท้องถิ่นในการหาเสียงเลือกตั้ง โดยอาศัยความสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองท้องถิ่น หัวคะแนนและชาวบ้านผู้มีสิทธิออกเสียง[10] การใช้นโยบายหาเสียงเลือกตั้งเพื่อสร้างเครือข่ายของนักการเมืองในท้องถิ่น[11] ซึ่งได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่าทำให้เกิดวาทกรรมการซื้อสิทธิขายเสียงของประชาชน โดยละเลยพลวัตในการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ทำให้ชาวบ้านได้รับประสบการณ์การเรียนรู้ระบอบประชาธิปไตย และให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งที่เป็นพื้นที่การต่อรองอำนาจทางการเมืองระหว่างประชาชนกับผู้มีอำนาจทางการเมือง[12] และยังละเลยประเด็นที่เกิดจากการนำระบบการเลือกตั้งแบบใหม่มาใช้ ซึ่งก่อให้เกิดกลุ่มนักการเมืองท้องถิ่นที่ได้รับเลือกตั้งกลุ่มใหม่ที่มีพื้นอาชีพและระดับการศึกษาแตกต่างไปจากเดิมด้วยเช่นกัน[13]

 

ระเบียบกฎเกณฑ์และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการของการเลือกตั้งท้องถิ่นไทย

          เมื่อพิจารณาประเด็นทางกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่น จากแนวนโยบายของรัฐเกี่ยวกับการกระจายอำนาจและการปกครองส่วนท้องถิ่นของไทยในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับแรกในปีพ.ศ.2475 เป็นต้นมา จะพบว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2517 เป็นรัฐธรรมนูญที่เริ่มมีหมวดว่าด้วยการปกครองท้องถิ่น ที่มีการระบุให้การปกครองท้องถิ่นทุกระดับมีสภาท้องถิ่น และหัวหน้าฝ่ายบริหารท้องถิ่นหรือคณะผู้บริหารท้องถิ่น มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในท้องถิ่นตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด (มาตรา 216) แต่การเลือกตั้งหัวหน้าฝ่ายบริหารท้องถิ่นหรือคณะผู้บริหารท้องถิ่นนั้น ไม่ได้กำหนดว่าจะต้องมาจากการเลือกตั้งทางตรงเท่านั้น เพราะอาจจะให้สภาท้องถิ่นเลือกตั้งจากสมาชิกที่มีอยู่ในสภาก็ได้ (มาตรา 217)  ส่วนในรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2521 แม้ว่าจะมีการกำหนดเรื่องการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นเอาไว้ในหมวดว่าด้วยการปกครองท้องถิ่น แต่ก็ยังเปิดโอกาสให้มีการแต่งตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและคณะผู้บริหารท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นได้ โดยกรณีการแต่งตั้งสภาท้องถิ่น จะต้องมีจำนวนน้อยกว่าสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้ง (มาตรา 182 และ 183)  และนับตั้งแต่นั้นมาก็จะปรากฏข้อบัญญัติเกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่นในลักษณะเดียวกัน ทั้งในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2534 (มาตรา 198 และมาตรา 199) และรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2538 (แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 5) (มาตรา 198 และมาตรา 199)[14]

          ทิศทางการเลือกตั้งท้องถิ่นได้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 ที่ให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่นอย่างจริงจัง โดยกำหนดให้คณะผู้บริหารท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน หรือมาจากความเห็นชอบของสภาท้องถิ่นที่จะต้องมาจากการเลือกตั้งมีการกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งต่างๆดังกล่าวเอาไว้คราวละ 4 ปี และยังกำหนดให้คณะผู้บริหารหรือผู้บริหารจะเป็นข้าราชการประจำ หรือมีตำแหน่งในหน่วยงานอื่น ได้แก่ หน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ และของข้าราชการส่วนท้องถิ่นควบคู่ไปพร้อมกันไม่ได้อีกต่อไป (มาตรา 285)  ซึ่งในเวลาต่อมาหลักการเลือกตั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยตรงดังกล่าว ก็ได้กลายเป็นต้นแบบที่ถูกนำมาใช้ในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 ด้วยเช่นกัน (มาตรา 284)

          ภายหลังจากรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 ได้วางหลักเกณฑ์การเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นด้วยวิธีการเลือกตั้งโดยตรง ก็ได้มีการออกพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545 ที่กำหนดให้มีการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นโดยตรงกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกประเภทเป็นครั้งแรก  พระราชบัญญัตินี้จึงนำมาสู่การยกเลิกกฎหมายที่เกี่ยวข้องเดิม ได้แก่ กฎหมายการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กฎหมายการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด กฎหมายการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล  ในเวลาต่อมาได้มีการตราแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติดังกล่าวอีกครั้งในปี พ.ศ. 2546  จึงนำมาสู่การออกพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2546  และในช่วงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2546 ก็ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งท้องถิ่นไทย เมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติสำคัญจำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2546 พระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2546 และพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2546 ซึ่งทำให้เกิดการเลือกตั้งผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับ ในรูปแบบของการเลือกตั้งโดยตรงทั้งประเทศเป็นครั้งแรก ภายหลังจากมีการทดลองใช้การเลือกตั้งท้องถิ่นโดยตรงครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2518 เฉพาะกับกรณีกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ แต่ในเวลาต่อมาก็ได้เปลี่ยนมาใช้วิธีการแต่งตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครอีก จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2528 จึงได้นำการเลือกตั้งโดยตรงกลับมาใช้อีกครั้งอย่างไรก็ตาม ภายหลังจากการรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหารและนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน คือ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ออกประกาศหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 85/2557 เรื่อง การได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2557 ซึ่งมีผลทำให้ในปัจจุบันได้มีการระงับการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นโดยตรงไว้ชั่วคราว โดยนำวิธีการสรรหาและแต่งตั้งมาใช้แทน 

 

บรรณานุกรม

Funatsu, Tsuruyo.  Changing Local Elite Selection in Thailand; Emergence of New Local Government Presidents after Direct Elections and Theirs Capabilities. IDE Discussion Paper No. 411, Institute of Developing Economies, 2003.

Marschall, Melissa J.  “The Study of Local Elections in American Politics,” In Jan E. Leighley, ed.  The Oxford Handbook of American Elections and Political Behavior.  (Oxford: Oxford University Press, 2010), Chapter 25.

Marschall, Melissa, Paru Shah and Anirudh Ruhil, “The Study of Local Elections: A Looking Glass into the Future,” PS: Political Science and Politics 44, 1 (2011): 97-100.

Rallings, Colin and Michael Thrasher.  Local Elections in Britain (New York: Routledge, 1997)

เพียงกมล มานะรัตน์.  การเมืองเรื่องการเลือกตั้ง: ศึกษากรณีการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งนายกเทศมนตรีของเทศบาลนครเชียงใหม่ ปี พ.ศ. 2547.  วิทยานิพนธ์รัฐศาตรมหาบัณฑิต, สาขาวิชาการปกครอง ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2547.

เอนก เหล่าธรรมทัศน์.  ประชาธิปไตยท้องถิ่น: สาระสำคัญของการเมืองและการปกครองส่วนท้องถิ่น(นนทบุรี: สำนักพิมพ์มิติใหม่, 2545), หน้า 25-28.

ตระกูล มีชัย.  รายงานฉบับสมบูรณ์ การศึกษารวบรวมข้อมูลด้านการเมืองการปกครองไทย เรื่อง การเมืองการปกครองท้องถิ่นไทย ส่วนที่สาม การเลือกตั้งท้องถิ่น.กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า, 2546.

ตระกูล มีชัย.รายงานฉบับสมบูรณ์ การศึกษารวบรวมข้อมูลด้านการเมืองการปกครองไทย เรื่อง การเมืองการปกครองท้องถิ่นไทย ส่วนที่ห้า เอกสารวิชาการและงานวิจัย. (กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า, 2546)

ตระกูล มีชัย.รายงานฉบับสมบูรณ์ การศึกษารวบรวมข้อมูลด้านการเมืองการปกครองไทย เรื่อง การเมืองการปกครองท้องถิ่นไทย ส่วนที่หนึ่ง แนวนโยบายของรัฐ เกี่ยวกับการกระจายอำนาจและการปกครองส่วนท้องถิ่น. (กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า, 2546)

ธเนศวร์ เจริญเมือง.  100 ปีการปกครองท้องถิ่นไทย พ.ศ. 2440-2540 (กรุงเทพฯ: คบไฟ, 2540)

ประจักษ์ ก้องกีรติ, บก.  การเมืองว่าด้วยการเลือกตั้ง: วาทกรรม อำนาจ และพลวัตชนบทไทย.  นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2555.

พิสิษฏ์ นาสี และชัยพงษ์ สำเนียง.  “การเลือกตั้ง: การสร้างเครือข่ายและสายใยความสัมพันธ์ในการเมืองระดับท้องถิ่น.”วารสารสถาบันพระปกเกล้า10, 3 (กันยายน-ธันวาคม 2556):77-109.

สุรวุฒิ แพชนะ.  พฤติกรรมการไปใช้สิทธิเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นของประชาชนในเขตเทศบาล ศึกษาเฉพาะกรณีของเทศบาลหลังสวน จังหวัดชุมพร.  รายงานการศึกษาอิสระ ปริญญารัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต, วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2550.

อรทัย ก๊กผล.  สารานุกรมการปกครองท้องถิ่นไทย หมวดที่ ๓ พัฒนาการและรูปแบบการปกครองท้องถิ่นไทย ลำดับที่ ๕ เรื่อง กรุงเทพมหานคร.  กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า, 2547.

 

หนังสือแนะนำ

โกวิทย์ พวงงาม และอลงกรณ์ อรรคแสง.  การเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นโดยตรง  (กรุงเทพฯ: วิญญูชน, 2547).

อ้างอิง

[1]เอนก เหล่าธรรมทัศน์.  ประชาธิปไตยท้องถิ่น: สาระสำคัญของการเมืองและการปกครองส่วนท้องถิ่น(นนทบุรี: สำนักพิมพ์มิติใหม่, 2545), หน้า 25-28.

[2]ธเนศวร์ เจริญเมือง.  100 ปีการปกครองท้องถิ่นไทย พ.ศ. 2440-2540 (กรุงเทพฯ: คบไฟ, 2540), หน้า 283-284.

[3] Colin Rallings and Michael Thrasher.  Local Elections in Britain (New York: Routledge, 1997), p.9.

[4]ข้อมูลสำนักสำมะโนประชากรสหรัฐอเมริกา (US Census Bureau) ในปี ค.ศ. 2002 พบว่า มีหน่วยงานด้านการปกครองในสหรัฐอเมริกาทั้งสิ้น 87,576 หน่วยงาน และในจำนวนดังกล่าวเป็นหน่วยงานด้านการปกครองท้องถิ่นทั้งสิ้น 87,525 หน่วยงาน (คิดเป็นร้อยละ 99.9) อ้างจาก Melissa J. Marschall, “The Study of Local Elections in American Politics,” In Jan E. Leighley, ed.  The Oxford Handbook of American Elections and Political Behavior.  (Oxford: Oxford University Press, 2010), p.475.

[5]ดู Melissa Marschall, Paru Shah and Anirudh Ruhil, “The Study of Local Elections: A Looking Glass into the Future,” PS: Political Science and Politics 44, 1 (2011): 97.

[6]ดู Table 25.2 ประกอบเพิ่มเติมใน Melissa J. Marshall, “The Study of Local Elections in American Politics,”p. 477.

[7]ดู Melissa Marschall, Paru Shah and Anirudh Ruhil, “The Study of Local Elections: A Looking Glass into the Future,” p. 97.

[8]ผู้เขียนคำนวณจากคะแนนในประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่องผลการเลือกตั้ง ลงวันที่ 11 สิงหาคม 2518 ใน ตระกูล มีชัย.  รายงานฉบับสมบูรณ์ การศึกษารวบรวมข้อมูลด้านการเมืองการปกครองไทย เรื่อง การเมืองการปกครองท้องถิ่นไทย ส่วนที่สาม การเลือกตั้งท้องถิ่น. (กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า, 2546), หน้า 35-36.

[9]คำนวณคะแนนจากประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่องผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2543 และสถิติจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร วันที่ 23 กรกฎาคม 2543 ของสำนักนโยบายและแผนกรุงเทพมหานครใน เพิ่งอ้าง, หน้า 39 และ 43. และดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน ตารางที่ 1 การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในอรทัย ก๊กผล.  สารานุกรมการปกครองท้องถิ่นไทย หมวดที่ ๓ พัฒนาการและรูปแบบการปกครองท้องถิ่นไทย ลำดับที่ ๕ เรื่อง กรุงเทพมหานคร.  (กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า, 2547), หน้า 27.

[10]งานวิจัยประเภทนี้ถือได้ว่ามีจำนวนมาก และเป็นงานวิจัยกระแสหลักเกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่นไทยทั่วทุกภูมิภาค ดูตัวอย่างได้เช่น เพียงกมล มานะรัตน์.  การเมืองเรื่องการเลือกตั้ง: ศึกษากรณีการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งนายกเทศมนตรีของเทศบาลนครเชียงใหม่ ปี พ.ศ. 2547.  วิทยานิพนธ์รัฐศาตรมหาบัณฑิต, สาขาวิชาการปกครอง ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2547., สุรวุฒิ แพชนะ.  พฤติกรรมการไปใช้สิทธิเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นของประชาชนในเขตเทศบาล ศึกษาเฉพาะกรณีของเทศบาลหลังสวน จังหวัดชุมพร.  รายงานการศึกษาอิสระ ปริญญารัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต, วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2550. และงานวิจัยอื่นๆช่วงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 ย้อนถอยหลังลงไปในงานของ ตระกูล มีชัย.รายงานฉบับสมบูรณ์ การศึกษารวบรวมข้อมูลด้านการเมืองการปกครองไทย เรื่อง การเมืองการปกครองท้องถิ่นไทย ส่วนที่ห้า เอกสารวิชาการและงานวิจัย. (กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า, 2546).

[11]ดูใน พิสิษฏ์ นาสี และชัยพงษ์ สำเนียง.  “การเลือกตั้ง: การสร้างเครือข่ายและสายใยความสัมพันธ์ในการเมืองระดับท้องถิ่น.”วารสารสถาบันพระปกเกล้า10, 3 (กันยายน-ธันวาคม 2556):77-109.

[12]ดูเพิ่มเติมในบทความวิชาการของนักวิชาการหลากหลายประเทศที่ศึกษาการเลือกตั้งท้องถิ่นไทย ได้แก่ วิลเลียม เอ. คัลลาฮาน,  แคเธอรีน เอ. เบาว์วี และแอนดรู วอล์คเกอร์ ซึ่งรวบรวมมาแปลเป็นภาษาไทยไว้ในงานของ ประจักษ์ ก้องกีรติ, บก.  การเมืองว่าด้วยการเลือกตั้ง: วาทกรรม อำนาจ และพลวัตชนบทไทย.  นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2555.

[13]Tsuruyo Funatsu.  Changing Local Elite Selection in Thailand; Emergence of New Local Government Presidents after Direct Elections and Theirs Capabilities. IDE Discussion Paper No. 411, Institute of Developing Economies, 2003.

[14]ดูรายละเอียดเนื้อหาเกี่ยวกับการปกครองท้องถิ่นที่ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆได้ใน ตระกูล มีชัย.รายงานฉบับสมบูรณ์ การศึกษารวบรวมข้อมูลด้านการเมืองการปกครองไทย เรื่อง การเมืองการปกครองท้องถิ่นไทย ส่วนที่หนึ่ง แนวนโยบายของรัฐ เกี่ยวกับการกระจายอำนาจและการปกครองส่วนท้องถิ่น. (กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า, 2546). หน้า 1-10.

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก สถาบันพระปกเกล้า http://wiki.kpi.ac.th/index.php