เรียบเรียงโดย  ดร. เอกพลณัฐ  ณัฐพัทธนันท์

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ.ดร.ปธาน สุวรรณมงคล


แนวคิดและหลักการที่เกี่ยวข้อง

          การใช้สิทธิถอดถอน (Recall) เป็นกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลผู้มีอำนาจทางการเมืองอย่างหนึ่งตามหลักประชาธิปไตยทางตรง (Direct Democracy)[1] นอกเหนือจากการตรวจสอบถ่วงดุลตามหลักการแบ่งแยกอำนาจเป็นสามฝ่ายในฐานะทางเลือกหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ควบคู่กับระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน (Representative Democracy) ที่ถูกวิจารณ์ว่าทำให้เกิดการตัดตอนอำนาจของประชาชนไปให้กับผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาทำหน้าที่ในรัฐสภาภายหลังประชาชนใช้สิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเสียงเสร็จสิ้น[2]โดยยินยอมให้พลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนหนึ่งเรียกร้องใช้สิทธิลงคะแนนเสียง เพื่อตัดสินใจว่าจะให้ผู้มีอำนาจทางการเมือง ทั้งที่อาจจะมาจากการได้รับคะแนนเสียงเป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง หรืออาจจะมาจากการได้รับแต่งตั้งให้เข้าไปดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต้องออกจากตำแหน่งก่อนครบวาระที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่[3]ดังนั้น การใช้สิทธิถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองดังกล่าวของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จึงแสดงให้เห็นว่านักการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาทำหน้าที่ ยังคงถูกควบคุมการใช้อำนาจโดยพลเมืองซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอยู่  โดยทั่วไปการใช้สิทธิถอดถอนจะเกิดขึ้นได้ เมื่อผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้รับตำแหน่งทางการเมืองและปฏิบัติงานหลังจากการได้รับเลือกตั้งไปแล้วระยะหนึ่ง เช่น ระยะเวลา 6 เดือน หรือ 1 ปี[4]

 

ความสำคัญ

          การใช้สิทธิถอดถอนเป็นการเพิ่มอำนาจและบทบาททางการเมืองของพลเมือง ให้สามารถเข้ามีส่วนร่วมทางการเมืองตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตยได้มากยิ่งขึ้นด้วยการแทรกแซงการทำงานของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองโดยตรงและมีเป้าหมายเฉพาะบุคคลจึงเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่สำคัญของพลเมืองในการควบคุมการใช้อำนาจรัฐของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและยังเป็นวิธีการอีกวิธีหนึ่งที่แสดงให้เห็นความเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยของประชาชน ที่สามารถตรวจสอบว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของประชาชนหรือไม่ ถ้าหากผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามา กระทำการใดๆเบี่ยงเบนไปจากเจตนารมณ์ของประชาชน ซึ่งเป็นผู้มอบอำนาจของตนให้ไป ก็จำเป็นต้องมีการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองคนดังกล่าว เพื่อเลือกผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองคนใหม่เข้ามาปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง[5]

 

การถอดถอนผู้มีตำแหน่งทางการเมืองในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในต่างประเทศ

          การถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นกระบวนวิธีหนึ่งของหลักประชาธิปไตยทางตรง ที่มีการใช้อย่างแพร่หลายน้อยที่สุด ดังเห็นได้ว่ามีเพียงไม่กี่ประเทศที่นำการใช้สิทธิถอดถอนไปบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและระบบกฎหมาย[6]ประเทศที่นำการใช้สิทธิถอดถอนโดยพลเมืองเป็นผู้ริเริ่มกระบวนการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในท้องถิ่นไปใช้มีตัวอย่างได้แก่ ประเทศอาร์เจนตินามีการใช้สิทธิถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาทำหน้าที่ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  ประเทศโคลัมเบียมีการใช้สิทธิถอดถอนผู้ว่าราชการมลรัฐและนายกเทศมนตรี  ประเทศเยอรมนีมีการใช้สิทธิถอดถอนผู้ทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัติในเมืองเช่น เบอร์ลิน เบรเมน และบาวาเรีย  ประเทศเปรูมีการใช้สิทธิถอดถอนนายกเทศมนตรีและ เจ้าหน้าที่ผู้ได้รับเลือกตั้งเข้ามาดำรงตำแหน่งระดับภูมิภาค   ประเทศไต้หวันมีการใช้สิทธิถอดถอนกับสมาชิกสภานิติบัญญัติทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาค สมาชิกสภาเทศบาล นายกเทศมนตรีเมืองและเคาน์ตี้ ผู้บริหารทาวน์ชิพ  และประเทศสหรัฐอเมริกา (18 มลรัฐ) ก็มีการใช้สิทธิถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในระดับท้องถิ่นและมลรัฐ[7]

          ถึงแม้ว่าการใช้สิทธิถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงอำนาจของพลเมืองในการควบคุมการใช้อำนาจของนักการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งไม่ให้ประพฤติปฏิบัติในทางบิดเบือนเจตนารมณ์ของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริง แต่ในการศึกษาประเด็นการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในต่างประเทศ ก็มีการกล่าวถึงความเสี่ยงของการใช้สิทธิถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในท้องถิ่นเช่นกัน โดยเฉพาะการใช้สิทธิดังกล่าวของประชาชนผ่านทางสภาท้องถิ่น ตัวอย่างเช่นการกำหนดกระบวนการถอดถอนให้ประชาชนต้องกระทำผ่านทางสมาชิกสภาท้องถิ่นของประเทศโบลิเวีย ในนามของกฎหมายการลงคะแนนเสียงเพื่อสร้างการตรวจสอบ (constructive censorship vote)หรือเรียกว่า “voto constructive de censura” ที่อนุญาตให้สภานคร (town council) สามารถถอดถอนนายกเทศมนตรีได้ โดยใช้คะแนนเสียงข้างมากจำนวน 3 ใน 5 ส่วนของสมาชิกสภา ในกรณีที่นายกเทศมนตรีประพฤติฝ่าฝืนกฎระเบียบที่วางเอาไว้   แต่ในทางปฏิบัติในปี ค.ศ. 1997 ภายหลังจากมีการเข้ารับตำแหน่งของนายกเทศมนตรีเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ตามแนวทางการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเป็นเวลาหนึ่งปีปรากฏว่ามีการใช้กระบวนการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จำนวนมากถึงร้อยละ 30 ของจำนวนนายกเทศมนตรีทั้งหมด เพื่อนำคนที่สภานครต้องการเข้าสู่ตำแหน่งแทน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการใช้กระบวนการถอดถอนเป็นเครื่องมือทางการเมือง มากกว่าจะเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบการกระทำทุจริตประพฤติมิชอบของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง  ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงเป็นเพราะนายกเทศมนตรีถูกเลือกทางอ้อมผ่านทางสภา มากกว่าเป็นการได้รับเลือกตั้งจากประชาชนโดยตรง[8]

 

ระเบียบกฎเกณฑ์และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นของไทย

          การให้สิทธิประชาชนในการถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น มีระเบียบกฎเกณฑ์และกฎหมายสำคัญที่เกี่ยวข้องโดยตรงซึ่งได้เคยผ่านการประกาศใช้แล้ว จำนวนทั้งสิ้น 3 ฉบับ ทั้งในรูปแบบของรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติ ที่ได้บัญญัติกระบวนการถอดถอนบุคคลต่างๆดังกล่าว ดังรายละเอียดต่อไปนี้

1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปี พ.ศ. 2540 มาตรา 286

          มาตรา 286 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ในหมวดที่ 9 การปกครองส่วนท้องถิ่น  ได้มีการบัญญัติถึงเรื่องสิทธิการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในท้องถิ่นของประชาชนเอาไว้  โดยระบุว่า เมื่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในท้องถิ่นเห็นว่าบุคคลต่างๆดังกล่าว ไม่สมควรดำรงตำแหน่งต่อไป สามารถเข้าชื่อเป็นจำนวน 3 ใน 4 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มาลงคะแนนเสียงเพื่อลงคะแนนถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในท้องถิ่นจำนวน 2 ประเภท คือ สมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น  โดยบุคคลที่กล่าวถึงประเภทแรกนั้น หมายถึง สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล สมาชิกสภาเทศบาล สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภาเมืองพัทยา  ส่วนบุคคลที่กล่าวถึงประเภทหลัง หมายถึง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายกองค์การบริหารส่วนตำบล นายกเทศมนตรี ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายกเมืองพัทยาและเมื่อผู้มีสิทธิลงคะแนนตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ดังกล่าวมาร่วมลงชื่อถอดถอน ก็จะนำมาสู่กระบวนการถอดถอนโดยการลงคะแนนเสียง ซึ่งผู้มาลงคะแนนเสียงจะต้องมีไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

2. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปี พ.ศ. 2550 มาตรา 285

          มาตรา 285 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ในหมวดที่ 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น มีข้อความคล้ายคลึงกับ มาตรา 286 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 แต่มีความแตกต่างในสาระสำคัญอยู่ตรงนี้ ไม่ได้มีการระบุจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่จะเข้าชื่อถอดถอน หลักเกณฑ์และวิธีการเข้าชื่อ และการลงคะแนนเสียงเอาไว้ โดยบัญญัติให้เป็นไปตามกฎหมายอื่นที่จะออกมารองรับต่อไป

3. พระราชบัญญัติว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2542

          พระราชบัญญัติฉบับนี้ถูกทำขึ้นเพื่อรองรับมาตรา 286 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถควบคุมและตรวจสอบการทำงานของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในท้องถิ่นได้ ในขณะที่ยังไม่หมดวาระการดำรงตำแหน่ง  โดยกำหนดให้ประชาชนสามารถเข้าชื่อร้องต่อผู้ว่าราชการจังหวัด กรณีที่ผู้ถูกเสนอถอดถอนเป็นดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกสภาหรือผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล และเมืองพัทยา  แต่ในกรณีของกรุงเทพมหานครได้กำหนดให้ประชาชนเข้าชื่อร้องต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ภายในระยะเวลา 7 วันหลังจากได้รับคำร้องถอดถอน บุคคลที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นผู้รับคำร้องดังกล่าวจะต้องส่งคำร้องต่อไปยังผู้ถูกร้อง เพื่อให้ผู้ถูกร้องจัดทำคำชี้แจงให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแล้วแต่กรณีที่บัญญัติไว้ข้างต้นภายในระยะเวลา 30 วัน และภายหลังจากที่ผู้รับคำร้องได้รับคำชี้แจงจากผู้ถูกร้องแล้ว จึงส่งเอกสารต่างๆดังกล่าวต่อไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หรือบุคคลที่กกต.มอบหมาย เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด เพื่อประกาศกำหนดวันลงคะแนนเสียงถอดถอนและดำเนินการจัดให้มีการลงคะแนนเสียงถอดถอน ภายในระยะเวลาไม่เกิน 90 วันหลังจากได้รับแจ้ง[9]     

          พระราชบัญญัตินี้ยังมีรายละเอียดเกี่ยวกับเกณฑ์จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งและจำนวนผู้มีสิทธิเข้าชื่อลงคะแนนเสียงถอดถอนฯ  และยังมีรายละเอียดข้อกำหนดลักษณะของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่จะลงชื่อในคำร้องถอดถอนฯ  ขั้นตอนการยื่นคำร้องและการจัดลงคะแนนเสียงถอดถอน  ถ้าหากเกณฑ์ต่างๆครบถ้วน การถอดถอนจะทำได้สำเร็จก็ต่อเมื่อมีผู้มาใช้สิทธิลงคะแนนอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิลงคะแนนทั้งหมด และคะแนนเสียงจำนวนอย่างน้อย 3 ใน 4 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มาลงคะแนน เห็นว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่พวกตนต้องการถอดถอนนั้นไม่สามารถดำรงตำแหน่งต่อไปได้ บุคคลดังกล่าวก็จะพ้นจากตำแหน่งไปนับตั้งแต่วันลงคะแนนเสียง[10]

          เมื่อพิจารณากระบวนการถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นในประเทศไทย ตาม “ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปี พ.ศ. ...” ที่ได้รับความเห็นชอบจากเสียงส่วนใหญ่ของผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงที่มาใช้สิทธิ์ ในการลงประชามติไปเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2559 โดยเปรียบเทียบกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปี พ.ศ. 2550 พบว่า ในมาตรา 254  ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติปี พ.ศ. 2559 ได้บัญญัติว่า “ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีสิทธิเข้าชื่อกันเพื่อเสนอข้อบัญญัติหรือเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายบัญญัติ” ซึ่งถือว่ามีทั้งส่วนที่แตกต่างและส่วนที่คล้ายคลึงกับมาตรา 285 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550   

          ส่วนที่แตกต่าง คือ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติปี พ.ศ. 2559 ได้บัญญัติไว้เพียงแค่ประชาชนในท้องถิ่น มีสิทธิเข้าชื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 ได้บัญญัติว่า ประชาชนในท้องถิ่นมีสิทธิลงคะแนนเสียงถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น แต่ทั้งนี้ส่วนที่คล้ายคลึงกันคือ ไม่ได้มีการบัญญัติหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขต่างๆในการถอดถอนบุคคลต่างๆดังกล่าวเอาไว้ จึงต้องรอกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้องมารองรับต่อไปว่าจะบัญญัติเรื่องดังกล่าวไว้อย่างไร

 

พัฒนาการการถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น

          ในกรณีของประเทศไทยการถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายหลังจากมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการลงคะแนนเสียงถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ซึ่งได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการใช้สิทธิถอดถอนฯ ประกอบด้วยเกณฑ์ผู้มีสิทธิเข้าชื่อลงคะแนนถอดถอน จำนวนผู้ลงคะแนนถอดถอน ขั้นตอนการยื่นคำร้องและการจัดลงคะแนนเสียงถอดถอน การนับคะแนนเสียงถอดถอน เป็นต้น   ตลอดระยะเวลานับตั้งแต่ประกาศใช้พระราชบัญญัติดังกล่าวในปี พ.ศ. 2542 จนถึงปี พ.ศ. 2555 พบว่ามีการยื่นเรื่องถอดถอนจำนวนทั้งสิ้น 13 ครั้ง แต่ทำได้สำเร็จเพียงแค่ 3 ครั้งเท่านั้น[11]ซึ่งแสดงให้เห็นถึงปัญหาการนำกฎหมายไปใช้ในทางปฏิบัติ ที่อาจจะเกิดขึ้นจากการวางกฎเกณฑ์ต่างๆในกระบวนการถอดถอนที่ไม่เหมาะสมกับความเป็นจริง  และจากข้อมูลเท่าที่ตรวจสอบได้[12] พบว่า การยื่นถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นของประชาชน โดยอาศัยสิทธิตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย เกิดขึ้นเป็นผลสำเร็จครั้งแรกในกรณีของการลงคะแนนเสียงถอดถอนนายกองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยโก๋น อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน วันที่ 28 มกราคม 2550[13] โดยมีการกล่าวอ้างสาเหตุของการถูกเข้าชื่อถอดถอนว่า เป็นเพราะ “บริหารงานไม่โปร่งใส ไม่ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยเดือดร้อน และทุจริตเรียกรับผลประโยชน์จากประชาชน[14]และกรณีดังกล่าวได้ถูกนำมาใช้เป็นกรณีศึกษาเปรียบเทียบความสำเร็จในการถอดถอนนายกองค์การบริหารส่วนตำบลโดยประชาชนในพื้นที่อื่นๆ[15]

 

บรรณานุกรม

Altman, David.  Direct Democracy Worldwide.  Cambridge: Cambridge University Press, 2011.

Beramendi,Virginia et al. eds.  Direct Democracy: The International IDEA Handbook.  Stockholm: International IDEA, 2008.

Yilmaz, Yakup Beris, and Rodrigo Serrano-Berthet, “Local Government Discretion and Accountability: A Diagnostic Framework for Local Governance,’ Social Development Working Papers Paper No. 113, July 2008, Washington, DC: World Bank, 2008.

ชรินทร์ สัจจามั่น, “การลงคะแนนเสียงถอดถอนนายก อบต. ก้าวแรกของท้องถิ่นไทยในการสร้างอำนาจทางการเมืองภาคประชาชน,” Public Law Net, วันที่ 5 มีนาคม 2550.  แหล่งที่มา: http://www.pub-law.net/publaw/view.aspx?id=1061 (เข้าถึงวันที่ 4 ตุลาคม 2559)

ธีระรัตน์ วงษ์จักร, การมีส่วนร่วมของประชาชนในการปกครองท้องถิ่น: ศึกษาเฉพาะกรณีการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น.  (ภาคนิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2551) อ้างในฉัตรระวี ปริสุทธิญาณ, “อุปสรรคในการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น,” จดหมายข่าวสถาบันพระปกเกล้า10, 10 (ตุลาคม 2552):6-8.

นิจจารีย์ ภาคินปริพรรห์. “ปัญหากฎหมายในการถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น,”Public Law Net, วันที่ 6 ตุลาคม 2555.    แหล่งที่มา:http://www.pub-law.net/publaw/ view.aspx?id=1773 (เข้าถึงวันที่ 4 ตุลาคม 2559)

พฤทธิสาณ ชุมพล, ม.ร.ว. และเอก ตั้งทรัพย์วัฒนา.  คำและความคิดในรัฐศาสตร์ร่วมสมัย.  (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2551.

มาลี ปานม่วง, ยุทธพร อิสรชัย และปธาน สุวรรณมงคล, “เปรียบเทียบการถอดถอนนายกองค์การบริหารส่วนตำบลโดยประชาชน กรณีศึกษาองค์การบริหารส่วนตำบลโนนแดง อำเภอบ้านเขว้า จังหวัดชัยภูมิกับองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยโก๋น อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน,” เอกสารประกอบการประชุมเสนอผลงานวิจัยระดับบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช(มสธ.) ครั้งที่ 3. แหล่งที่มา : http://www.stou.ac.th/thai/grad_stdy/Masters/ฝสส/research/3nd/FullPaper/ SS/Oral/O-SS%20007%20นางสาวมาลี%20ปานม่วง.pdf (เข้าถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2559)

มาลี ปานม่วง. เปรียบเทียบการถอดถอนนายกองค์การบริหารส่วนตำบลโดยประชาชน กรณีศึกษาองค์การบริหารส่วนตำบลโนนแดง อำเภอบ้านเขว้า จังหวัดชัยภูมิกับองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยโก๋น อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน.  วิทยานิพนธ์ปริญญารัฐศาสตรมหาบัณฑิต แขนงวิชาการเมืองการปกครอง สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2555.

อรทัย ก๊กผล.  คู่คิด คู่มือการมีส่วนร่วมของประชาชน สำหรับนักบริหารท้องถิ่น.  กรุงเทพฯ: จรัญสนิทวงศ์การพิมพ์, 2552.

 

อ้างอิง

[1] การตรวจสอบถ่วงดุล (Check and Balance) ตามหลักการประชาธิปไตย จะให้ความสำคัญกับเรื่องการแบ่งแยกอำนาจออกเป็น 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน ม.ร.ว.พฤทธิสาณ ชุมพล และเอก ตั้งทรัพย์วัฒนา.  คำและความคิดในรัฐศาสตร์ร่วมสมัย.  (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2551), หน้า 10-24.

[2] ดู David Altman.  Direct Democracy Worldwide.  (Cambridge: Cambridge University Press, 2011), p. 4.

[3] ถ้ากระบวนการดังกล่าวเกิดขึ้นโดยไม่มีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งเข้ามาเกี่ยวข้องในขั้นตอนใดๆในการถอดถอน แต่ผู้ใช้สิทธิถอดถอนเป็นฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายตุลาการ จะเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นว่าการกล่าวโทษ (impeachment) ดูในVirginia Beramendi et al. eds.  Direct Democracy: The International IDEA Handbook.  (Stockholm: International IDEA, 2008), p. 109.

[4] ดูใน พฤทธิสาณ ชุมพล, มรว. และเอก ตั้งทรัพย์วัฒนา.  คำและความคิดในรัฐศาสตร์ร่วมสมัย, หน้า 329.

[5]เพิ่งอ้าง, หน้า 330.

[6] อ้างจาก Beramendi, Virginia et al. eds.  Direct Democracy: The International IDEA Handbook, p. 110.

[7] อ้างจาก Table 5.2 Countries with provisions for recall, by type of recall ใน Ibid., p. 115.

[8] ดู Serda Yilmaz, Yakup Beris, and Rodrigo Serrano-Berthet, “Local Government Discretion and Accountability: A Diagnostic Framework for Local Governance,’ Social Development Working Papers Paper No. 113, July 2008, (Washington, DC: World Bank, 2008), p. 13.

[9] ดูแผนภาพที่ 4: แสดงขั้นตอนการยื่นคำร้องและการจัดลงคะแนนเสียงถอดถอนใน อรทัย ก๊กผล.  คู่คิด คู่มือการมีส่วนร่วมของประชาชน สำหรับนักบริหารท้องถิ่น.  (กรุงเทพฯ: จรัญสนิทวงศ์การพิมพ์, 2552), หน้า 69.

[10] ดูเพิ่มเติมใน เพิ่งอ้าง, หน้า 68-70.

[11] อ้างอิงสถิติดังกล่าวจาก นิจจารีย์ ภาคินปริพรรห์ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งตีพิมพ์บทความในเว็บไซต์เครือข่ายกฎหมายมหาชนไทย (Public LawNet)ใน นิจจารีย์ ภาคินปริพรรห์. “ปัญหากฎหมายในการถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น,”Public Law Net, วันที่ 6 ตุลาคม 2555.    แหล่งที่มา:http://www.pub-law.net/publaw/view.aspx?id=1773 (เข้าถึงวันที่ 4 ตุลาคม 2559) และตารางที่ 1 สถิติคำร้องขอให้มีการถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ใน นิจจารีย์ ภาคินปริพรรห์.  ปัญหากฎหมายเกี่ยวกับการถอดถอนสมาชิกสภาและผู้บริหารในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น. (วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2555), หน้า 6.

[12] ข้อมูลในส่วนนี้มีการตรวจสอบความถูกต้องและความน่าเชื่อถือ โดยอาศัยงานวิจัยและบทความวิชาการจำนวนหนึ่งที่กล่าวถึงประเด็นที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ มาลี ปานม่วง, ยุทธพร อิสรชัย และปธาน สุวรรณมงคล, “เปรียบเทียบการถอดถอนนายกองค์การบริหารส่วนตำบลโดยประชาชน กรณีศึกษาองค์การบริหารส่วนตำบลโนนแดง อำเภอบ้านเขว้า จังหวัดชัยภูมิกับองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยโก๋น อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน,” เอกสารประกอบการประชุมเสนอผลงานวิจัยระดับบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช(มสธ.) ครั้งที่ 3. แหล่งที่มา : http://www.stou.ac.th/thai/grad_stdy/ Masters/ฝสส/research/3nd/FullPaper/SS/Oral/O-SS%20007%20นางสาวมาลี%20ปานม่วง.pdf (เข้าถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2559), ธีระรัตน์ วงษ์จักร, การมีส่วนร่วมของประชาชนในการปกครองท้องถิ่น: ศึกษาเฉพาะกรณีการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น.  (ภาคนิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2551) อ้างในฉัตรระวี ปริสุทธิญาณ, “อุปสรรคในการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น,” จดหมายข่าวสถาบันพระปกเกล้า10, 10 (ตุลาคม 2552):7-8.  และ ชรินทร์ สัจจามั่น, “การลงคะแนนเสียงถอดถอนนายก อบต. ก้าวแรกของท้องถิ่นไทยในการสร้างอำนาจทางการเมืองภาคประชาชน,” Public Law Net, วันที่ 5 มีนาคม 2550.  แหล่งที่มา: http://www.pub-law.net/publaw/view.aspx?id=1061(เข้าถึงวันที่ 4 ตุลาคม 2559)

[13] ดูใน มาลี ปานม่วง, ยุทธพร อิสรชัย และปธาน สุวรรณมงคล, “เปรียบเทียบการถอดถอนนายกองค์การบริหารส่วนตำบลโดยประชาชน กรณีศึกษาองค์การบริหารส่วนตำบลโนนแดง อำเภอบ้านเขว้า จังหวัดชัยภูมิกับองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยโก๋น อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน,” เอกสารประกอบการประชุมเสนอผลงานวิจัยระดับบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช(มสธ.) ครั้งที่ 3(The 3rd STOU Graduate Research Conference.วันที่ 3-4 กันยายน 2556, อาคารสัมมนา 1-2  มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. หน้า 6.  แหล่งที่มา : http://www.stou.ac.th/thai/grad_stdy/ Masters/ฝสส/research/3nd/FullPaper/SS/Oral/O-SS%20007%20นางสาวมาลี%20ปานม่วง.pdf (เข้าถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2559)

[14] อ้างอิงจากบทความของ ชรินทร์ สัจจามั่น เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ซึ่งตีพิมพ์บทความในเว็บไซต์เครือข่ายกฎหมายมหาชนไทย (Public LawNet)ใน ชรินทร์ สัจจามั่น, “การลงคะแนนเสียงถอดถอนนายก อบต. ก้าวแรกของท้องถิ่นไทยในการสร้างอำนาจทางการเมืองภาคประชาชน,” Public Law Net, วันที่ 5 มีนาคม 2550.  แหล่งที่มา: http://www.pub-law.net/publaw/view.aspx?id=1061 (เข้าถึงวันที่ 4 ตุลาคม 2559)

[15] ตัวอย่างเช่นวิทยานิพนธ์ของ มาลี ปานม่วง. เปรียบเทียบการถอดถอนนายกองค์การบริหารส่วนตำบลโดยประชาชน กรณีศึกษาองค์การบริหารส่วนตำบลโนนแดง อำเภอบ้านเขว้า จังหวัดชัยภูมิกับองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยโก๋น อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน.  (วิทยานิพนธ์ปริญญารัฐศาสตรมหาบัณฑิต แขนงวิชาการเมืองการปกครอง สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2555)

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก สถาบันพระปกเกล้า http://wiki.kpi.ac.th/index.php