คำแถลงนโยบาย

นายประมวล ประเสริฐสังข์ นายกเทศมนตรีตำบลโพธิ์ทอง

แถลงนโยบายต่อสภาเทศบาลตำบลโพธิ์ทอง ในวันที่ 7 มิถุนายน 2564

ณ ห้องประชุมสภาเทศบาลตำบลโพธิ์ทอง อำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด

**********

 

กราบเรียน ท่านประธานสภา และท่านสมาชิกสภาเทศบาลตำบลโพธิ์ทอง

         

ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้มีประกาศผลการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีตำบลโพธิ์ทอง อำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 ได้ประกาศให้ ผมนายประมวล ประเสริฐสังข์ เป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีตำบลโพธิ์ทอง นั้น

          ตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 แก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่ 14 พ.ศ. 2562 มาตรา 48 ทศ กล่าวว่า ก่อนนายกเทศมนตรีเข้ารับหน้าที่ ให้ประธานสภาเทศบาลเรียกประชุมสภาเทศบาลเพื่อให้นายกเทศมนตรีแถลงนโยบายต่อสภาเทศบาล โดยไม่มีการลงมติ  ทั้งนี้ ภายในสามสิบวันนับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้งนายกเทศมนตรี

          วรรคสาม การประชุมเพื่อแถลงนโยบายของนายกเทศมนตรีให้กระทำโดยเปิดเผย โดยนายกเทศมนตรีต้องจัดทำนโยบายเป็นลายลักษณ์อักษรแจกให้สมาชิกสภาเทศบาลทุกคนที่มาประชุมด้วย

          วรรคห้า คำแถลงนโยบายของนายกเทศมนตรีและรายงานแสดงผลการปฏิบัติงานให้ประกาศไว้โดยเปิดเผยที่สำนักงานเทศบาลด้วย

          ในการบริหารงานเทศบาลตำบลโพธิ์ทอง กระผมนายประมวล ประเสริฐสังข์ ในฐานะนายกเทศมนตรีตำบลโพธิ์ทอง ตั้งใจละมุ่งมั่นที่จะเข้ามาบริหารงานในองค์กรแห่งนี้ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อพี่น้องประชาชนในเขตเทศบาลตำบลโพธิ์ทอง ตามที่พี่น้องประชาชนได้ให้ความไว้วางใจต่อกระผม กระผมจะบริหารจัดการ กำกับ ควบคุม ดูแลงานของเทศบาลโดยใช้และยึดหลักธรรมาภิบาล เพื่อสร้างระบบบริหารจัดการที่ดี มีประสิทธิภาพปราศจากการทุจริตเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพประสิทธิผลต่อทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบริหาร ฝ่ายสภา ฝ่ายพนักงานเทศบาล ฝ่ายพี่น้องประชาชน ฝ่ายเอกชนภาคธุรกิจ หรือองค์กรต่างๆ ในเขตพื้นที่เทศบาลตำบลโพธิ์ทอง

          การบริหารงานของเทศบาลตำบลโพธิ์ทอง กระผมมุ่งเน้นและให้ความสำคัญกับการทำงานเชิงบูรณาการ โดยเทศบาลฯ จะเป็นจะเป็นแกนกลางในการขับเคลื่อนกลไกทางการบริหาร เพื่อเสริมสร้างฐานรากของสังคมให้เป็นเมืองที่มีความสะอาด สะดวก ปลอดภัย มีระเบียบวินัย มีเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี วิถีชีวิตดี มีความสุข สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข มีความรู้รักสามัคคี และร่วมกันเป็นพลัง ก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเป็นส่วนเสริมความเข้มแข็ง สร้างภูมิคุ้มกันแก่ท้องถิ่น และประเทศชาติต่อไป

ภายใต้ข้อบังคับแห่งกฎหมาย ว่าด้วยอำนาจหน้าที่ของเทศบาลตำบล ซึ่งบัญญัติไว้ กระผมจะบริหารเทศบาลตำบลโพธิ์ทองด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้กับพี่น้องประชาชนในเขตเทศบาลตำบลโพธิ์ทองซึ่งได้กำหนดนโยบายในการบริหาร ไว้ดังนี้

 

1. นโยบายการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน และโครงข่ายคมนาคม

1.1 การขยายเขตไฟฟ้าเพื่อการเกษตร ดำเนินโครงการขยายเขตไฟฟ้าให้พื้นที่ทำกินทางการเกษตร เพื่อรองรับความต้องการการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ทำกินทางการเกษตรของเกษตรกร โดยขยายเขตระบบจำหน่ายไฟฟ้าและติดตั้งมิเตอร์ให้กับเกษตรกร โดยเกษตรกรผู้ยื่นคำร้องจะต้องขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกร มีสมุดทะเบียนเกษตรกร ต้องมีทางสาธารณะที่รถยนต์สามารถวิ่งผ่านได้อย่างสะดวกและสามารถดำเนินการก่อสร้างระบบจำหน่ายไฟฟ้าโดยวิธีการปักเสาพาดสายได้

1.2 ส่งเสริม สนับสนุน และผลักดันให้เกิดการพัฒนาด้านคมนาคมทุกด้าน

1.3 ก่อสร้างถนนลาดยาง หรือคอนกรีตเสริมเหล็กถนนสายต่างๆ ตลอดจนปรับปรุง ซ่อมแซม ถนนสายต่างๆ และระบบสาธารณูปโภคในเขตเทศบาลให้มีความสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพ สร้างและพัฒนาแก้ปัญหาการระบายน้ำให้ถูกสุขลักษณะ ไม่อุดตัน

1.4 ปรับปรุงพื้นผิวจราจร สัญญาณไฟจราจร ไฟส่องสว่าง รวมถึงป้ายเครื่องหมายจราจรให้มีความทันสมัย ปลอดภัย ถูกต้องตามหลักวิศวกรรมจราจร

1.5 ปรับปรุงและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่จุดเสี่ยงในเขตเทศบาล และร่วมวางแผนกับชุมชน หมู่บ้านในการจัดการปัญหาแบบบูรณาการ

 

2. นโยบายการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว

2.1 ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนใช้วิถีชีวิตในระบบเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลัก

2.2 ส่งเสริมสินค้าที่ผลิตจากชุมชน และสินค้าที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น

2.3 ส่งเสริมการฝึกอาชีพ และพัฒนาแรงงานเยาวชน ประชาชนมีคุณภาพและตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานในท้องถิ่น

2.4 จัดให้มีตลาดเพื่อรองรับผลผลิตอย่างเพียงพอ ถูกสุขลักษณะ และสะดวกในการซื้อขาย

2.5 จัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานด้านเศรษฐกิจต่างๆ อย่างเพียงพอและทั่วถึง เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกและส่งเสริมการลงทุนในท้องถิ่น

2.6 ส่งเสริมพัฒนาทุนทางสังคมของท้องถิ่น เพื่อใช้เป็นปัจจัยในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

 

3. นโยบายการพัฒนาด้านการศึกษา

3.1 มุ่งสร้างเด็กเล็กให้เป็นเยาวชนที่ดี เก่งและมีความสุข โดยยึดหลักธรรมนำความรู้ และยึดมั่นในคุณค่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

3.2 ส่งเสริม สนับสนุน พัฒนาศักยภาพเด็กเล็กในทุกด้าน ให้มีทักษะในการใช้ชีวิตในสังคมและการใช้ความคิดสร้างสรรค์ ด้วยการจัดการเรียนการสอนและสร้างกิจกรรมต่างๆ เพื่อก้าวสู่ความเป็นเลิศ

3.3 สนับสนุนและส่งเสริม ครู บุคคลากรทางการศึกษา ให้ได้รับความรู้เพิ่มเติม เสริมทักษะการพัฒนาศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์ด้านต่างๆ เพื่อสามารถพัฒนาการเรียนการสอนได้อย่างเชี่ยวชาญ มีความรู้ความสามารถและมีมาตรฐานด้านวิชาชีพ

3.4 ปรับปรุงและก่อสร้างอาคารสถานที่ สภาพแวดล้อมของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ตลอดจนจัดหาเครื่องมือเครื่องใช้สื่อการเรียนการสอน ให้สามารถรองรับจำนวนนักเรียนที่เพิ่มขึ้นและมีความทันสมัย

3.5 ส่งเสริมสนับสนุนจัดตั้งแหล่งเรียนรู้เพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชนและประชาชนให้เข้าถึงแหล่งเรียนรู้ที่มีความหลากหลาย เพื่อจุดประกายความคิดสร้างสรรค์สู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต

3.6 ส่งเสริมสนับสนุนความเสมอภาคทางการศึกษา สนับสนุนช่วยเหลือเด็กเล็กที่ขาดโอกาสทางการศึกษาให้ได้รับการศึกษาขั้นศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนอย่างเท่าเทียม

 

4.นโยบายการพัฒนาด้านศาสนา ประเพณี ศิลปะ วัฒนธรรม และนันทนาการ

4.1 ส่งเสริม สนับสนุน พัฒนาทักษะด้านกีฬาให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชนออกกำลังกายในกีฬาประเภทต่างๆ

4.2 ส่งเสริมให้มีลานกีฬาและนันทนาการในชุมชนต่างๆ

4.3 ส่งเสริมกิจกรรมนันทนาการ ศิลปะการแสดงและดนตรีแก่เยาวชน ประชาชน

4.4 ส่งเสริมสนับสนุนและอนุรักษ์ พุทธศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม ให้สอดคล้องกับท้องถิ่น

 

5.นโยบายการพัฒนาด้านการสาธารณสุข

5.1 ส่งเสริมสุขภาพพลานามัยของประชาชน ให้คำแนะนำ ปรึกษา และจัดกิจกรรมในรูปแบบต่างๆในทุกระดับอายุ เพศ รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ในการดูแลสุขภาพของตนเอง

5.2 มุ่งส่งเสริมสุขภาพ และครอบคลุมป้องกันโรคติดต่อและไม่ติดต่อประเภทเรื้อรัง ควบคุมพาหะนำโรค โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วม

5.3 ให้การช่วยเหลือ การป้องกัน การรักษาพยาบาลเบื้องต้นให้แก่ประชาชนในเชิงรุกเข้าถึงครัวเรือน

5.4 กำหนดมาตรฐานอาหารปลอดภัย โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบสารปนเปื้อนในอาหารออกตรวจสถานที่ประกอบการ และตลาดสดอย่างต่อเนื่อง

5.5 ส่งเสริมตลาดสด ตลาดชุมชนน่าซื้อ อาหารปลอดภัย ตามมาตรฐานกรมอนามัยเพื่อสุขภาพอนามัยของประชาชน

5.6 ส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานของกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน

 

6. นโยบายการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม และบริหารจัดการขยะ พัฒนาอนุรักษ์ แหล่งน้ำ

6.1 ส่งเสริม สนับสนุนรณรงค์และสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการรักษาความสะอาดและสร้างภูมิทัศน์ เร่งรัด พัฒนา ปรับปรุง สภาพแวดล้อม ตำบลโพธิ์ทองให้มีความน่าอยู่

6.2 สนับสนุนและเชิญชวนให้ทุกภาคส่วนประกอบด้วยประชาชนภาคเอกชนและภาคราชการ และสถาบันการศึกษา มีส่วนร่วมในการดำเนินการจัดการสิ่งแวดล้อมตำบลโพธิ์ทองให้มีความน่าอยู่

6.3 เพิ่มศักยภาพการจัดเก็บขยะมูลฝอยให้รวดเร็ว ทั่วถึง และสนับสนุนให้ประชาชนร่วมกันดูแลความสะอาดของเมือง

6.4 เร่งรัดการดำเนินการกำจัดขยะมูลฝอยตกค้าง ตามหมู่บ้าน ครัวเรือน ทางสาธารณะ ที่สาธารณะ ในพื้นที่ตำบลโพธิ์ทองให้หมดไป

6.5 จัดกิจกรรมและส่งเสริมการลดและคัดแยกขยะมูลฝอย

6.6 สร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการลด คัดแยก ขยะมูลฝอยและขยะอันตรายที่ต้นทางให้กับประชาชน และสนับสนุนหมู่บ้าน ชุมชนดำเนินการลด คัดแยก และนำขยะมูลฝอยกลับมาใช้ประโยชน์

6.7 ส่งเสริมให้เกิดการลดการเกิดขยะมูลฝอยทุกวิถีทาง ตั้งแต่การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า มุ่งเน้นการลดใช้ถุงพลาสติกและโฟม และซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อลดปริมาณการเกิดขยะมูลฝอยส่งเสริมการคัดแยกตั้งแต่ต้นทางโดยใช้หลัก 3Rs หรือ 3 ช. คือ 3Rs : Reduce Reuse และ Recycleหรือ 3 ช: ใช้น้อย ใช้ซ้ำ และนำกลับมาใช้ใหม่

6.8 การปลูกป่าในพื้นที่ป่าสาธารณะ เพิ่มพื้นที่ป่าสีเขียว เพิ่มต้นไม้ที่เป็นตัวกักเก็บน้ำตามธรรมชาติได้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุดทั้งบนดินและใต้ดิน

6.9 การพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำ – แหล่งกักเก็บน้ำในปัจจุบันเริ่มเสื่อมโทรมและมีสภาพตื้นเขิน ทำให้ปริมาณน้ำลดลงไม่เพียงพอต่อการแจกจ่ายในชุมชน ดังนั้นการขุดลอกแหล่งน้ำให้กว้างและลึกเพื่อกักเก็บน้ำมากๆ จึงมีความสำคัญ ตลอดถึงหาวิธีกักเก็บน้ำแบบธรรมชาติ เช่น โครงการแก้มลิง เป็นต้น

6.10 การดูแลรักษาแหล่งน้ำจากกิจกรรมทางการเกษตร – การปลูกพืชเกษตรจำเป็นต้องใช้แหล่งน้ำตามธรรมชาติ ตลอดจนถึงการระบายน้ำทิ้งจากพืชผัก ลดการใช้สารเคมีที่มีพิษในการเกษตร การรักษาแหล่งน้ำจากภาคอุตสาหกรรม – น้ำเสียเป็นส่วนหนึ่งของภาคอุตสาหกรรม โรงงานจึงควรวางแผนการบำบัดน้ำก่อนปล่อยลงสู่สิ่งแวดล้อม

  

7.นโยบายการพัฒนาด้านคุณภาพชีวิต

7.1 เสริมการดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งทางร่างกายและจิตใจ

7.2 ส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมการออกกำลังกายและการแข่งขันกีฬาระดับต่างๆ

7.3 แก้ไข ปัญหาและพร้อมรับปัญหาภัยพิบัติและภัยสาธารณะต่าง ๆ

7.4 พัฒนาขีดความสามารถของงานบรรเทาสาธารณภัย สนับสนุนเสริมสร้างความรู้ความสามารถของ อปพร. เพื่อให้มีความรู้ความสามารถในการช่วยเหลือดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

7.5 จัดสรรงบประมาณเพื่อดูแลผู้สูงอายุและผู้พิการ

7.6 ดูแลและจัดสวัสดิการต่างๆ ให้ผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ป่วยให้เพียงพอและดีขึ้น

7.7 การจัดกิจกรรมพบปะประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อบริการประชาชนในเชิงรุก พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน

7.8 ให้การสงเคราะห์แก่ผู้สูงอายุ ผู้ยากจน และคนพิการตามเกณฑ์ของกระทรวงพัฒนาสังคมฯ

7.9 ส่งเสริมสนับสนุนให้ชุมชนมีบทบาทในการพัฒนาชุมชนและเสริมสร้างความรู้ เพิ่มศักยภาพแก่ชุมชนนำไปสู่การเป็นชุมชนเข้มแข็ง

7.10 ส่งเสริมและสนับสนุนมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดของรัฐบาล เพื่อให้ประชาชนเลิกยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด โดยใช้ชุมชนและแกนนำเยาวชนเข้ามาเป็นส่วนร่วม 

7.11 จัดหาเครื่องออกกำลังกายกลางแจ้งและสนามเด็กเล่นเพื่อนันทนาการ ให้ครอบคลุมพื้นที่ในเขตเทศบาล

 

8. นโยบายการพัฒนาด้านการเมือง และการบริหาร

8.1 ส่งเสริมให้เทศบาล เป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพประสิทธิผล มุ่งประชาชนเป็นศูนย์กลาง

8.2 สร้างระบบการบริหารงานโดยเน้นหลักประสิทธิภาพ ประสิทธิผล สุจริต โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้และสนองต่อความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง

8.3 สนับสนุนและพัฒนาบุคคลากรของเทศบาลให้มีจิตบริการ ปฏิบัติงานอย่างข้าราชการมืออาชีพ

8.4 ปรับปรุงและพัฒนาระบบรับเรื่องราวร้องทุกข์ และศูนย์บริการร่วมช่วยเหลือแก้ไขปัญหาประชาชน

8.5 ส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารบ้านเมือง โดยการร่วมคิดร่วมทำ เพื่อให้การบริหารและการพัฒนาบ้านเมืองมีประสิทธิภาพโปร่งใส

  

 


ยุทธศาสตร์การพัฒนา เทศบาลตำบลโพธิ์ทอง

 

************

 

ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน

  1. พัฒนาการคมนาคมขนส่งและระบบระบายน้ำ
  2. พัฒนาระบบการจราจร ไฟฟ้าสาธารณะ น้ำประปาและผังเมือง
  3. พัฒนาการก่อสร้าง ปรับปรุง บำรุงรักษาเส้นทางคมนาคม แหล่งน้ำ ระบบสาธารณูปโภค และสาธารณูปการ

 

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิต

  1. จัดการมูลฝอยสิ่งปฏิกูล มลพิษและน้ำเสียแบบบูรณาการ
  2. สร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  3. ปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่นันทนาการและสวนสาธารณะ
  4. พัฒนาด้านสาธารณสุข สุขาภิบาลอาหาร อาชีวอนามัย
  5. ลดปัญหายาเสพติด
  6. พัฒนาสังคมและชุมชนพร้อมเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน
  7. สงเคราะห์ผู้ด้อยโอกาสทางสังคมและช่วยเหลือผู้เดือดร้อน
  8. รักษาความสงบเรียบร้อยความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

 

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว

  1. สนับสนุนและส่งเสริมอาชีพ การลงทุนและการเพิ่มรายได้ ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง
  2. ส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยว การยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยว
  3. การอนุรักษ์ ฟื้นฟูศิลปะ ศาสนา วัฒนธรรม จารีตประเพณี และภูมิปัญญาท้องถิ่น
  4. จัดให้มี และการบำรุงรักษาสถานที่ท่องเที่ยว สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ และสวนสาธารณะ

 

ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนาด้านการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรมและนันทนาการ

  1. พัฒนาคุณภาพการศึกษาและสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต
  2. ส่งเสริมและพัฒนาวิชาการ กีฬา ดนตรีและนันทนาการ
  3. ส่งเสริม สนับสนุนด้านศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่นและรัฐพิธี

 

ยุทธศาสตร์ที่ 5 การพัฒนาด้านการเมืองการบริหาร

  1. ส่งเสริมกระบวนการบริหารจัดการ โดยการมีส่วนร่วม
  2. พัฒนาศักยภาพบุคลากร
  3. เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
  4. ปรับปรุงและพัฒนาสถานที่ เครื่องมือเครื่องใช้ ระบบงาน ระบบเทคโนโลยี สารสนเทศและการประชาสัมพันธ์