เรียบเรียงโดย  ผศ.ดร. ณัฐพล  ใจจริง

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ.ดร.ปธาน สุวรรณมงคล


บทนำ

          รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับที่ผ่านมา ได้บัญญัติให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องประกอบได้ด้วย ผู้บริหารหรือคณะผู้บริหารท้องถิ่น และสภาท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาท้องถิ่นนั้นได้มีภารกิจ อำนาจหน้าที่ที่สำคัญเป็นอันมากในการออกข้อบัญญัติท้องถิ่นและร่วมตัดสินใจในประเด็นที่สำคัญ ในท้องถิ่นนั้น ๆ ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการควบคุมให้การประชุมสภาท้องถิ่นสามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่นและสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีก็คือ “ประธานสภาท้องถิ่น” นั่นเอง ซึ่งความหมาย การได้มา อำนาจหน้าที่ และการพ้นจากตำแหน่งของประธานสภาท้องถิ่นได้ถูกกำหนดไว้ในกฎหมายจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยข้อบังคับการประชุมสภาท้องถิ่น พ.ศ. 2547 โดยมีรายละเอียดดังที่จะกล่าวต่อไปนี้

ความหมาย

          ความหมายของคำว่า “ประธานสภาท้องถิ่น” ปรากฏอยู่ในระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยข้อบังคับการประชุมสภาท้องถิ่น พ.ศ. 2547 ข้อ 4 ความว่า “ประธานสภาท้องถิ่นหมายความว่า ประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ประธานสภาเทศบาล และประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล” จากนิยามดังกล่าวจะเห็นได้ว่าประธานสภาท้องถิ่นมีความหมายรวมถึงเฉพาะประธานสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบทั่วไป อันได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัดและเทศบาลเท่านั้น ไม่หมายความรวมถึงประธานในสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษอย่างเช่น กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยาซึ่งมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไปคือ ประธานสภากรุงเทพมหานคร และประธานสภาเมืองพัทยา[1]

วิธีการได้มาซึ่งประธานสภาท้องถิ่น

          ตามระเบียบฯ ได้กำหนดวิธีการและขั้นตอนการได้มาซึ่งประธานสภาท้องถิ่นมีรายละเอียดดังนี้

          การเสนอชื่อ

          ตามระเบียบฯ ข้อ 8 วรรคหนึ่ง กำหนดให้สมาชิกสภาสามารถเสนอชื่อผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานสภา ดังนี้

          (1)  สมาชิกสภา 1 คน สามารถเสนอชื่อผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งให้ เป็นประธานสภาได้เพียง 1 ชื่อ

          (2) ผู้ที่ถูกเสนอชื่อจะต้องมีสมาชิกสภาออกเสียงรับรองอย่างน้อย 2 คน

          (3) หากมีการเสนอชื่อผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานสภาเพียง 1 คน     

ให้ถือว่าผู้นั้นได้รับเลือก (ซึ่งเป็นไปตามความในระเบียบ ฯ ข้อ 14)

          การลงคะแนน

          ให้สมาชิกสภาเขียนชื่อตัว และชื่อสกุลของผู้ถูกเสนอ จำนวน 1 ชื่อ และให้สมาชิกสภาหย่อนบัตรที่เขียนชื่อเหมือนการลงคะแนนลับ ตาม ข้อ 75 วรรคสาม โดยประธานสภาเป็นผู้เรียกสมาชิกสภาตามลำดับอักษรนำซองมาใส่ในหีบที่จัดไว้ต่อหน้าประธานที่ประชุม

          การตรวจนับคะแนน

          ประธานชั่วคราวเชิญสมาชิกสภาไม่น้อยกว่า 2 คน มาช่วยนับโดยที่ผู้ได้รับเลือกมี

คุณสมบัติ ดังนี้

          (1) เป็นผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุด

          (2) หากมีผู้ที่ได้รับคะแนนเท่ากัน ให้ลงคะแนนใหม่โดยวิธีเดิมอีกครั้ง

          (3) หากคะแนนยังเท่ากันอีกให้ใช้วิธีจับสลาก โดยวิธีการจับสลากนี้ให้เป็นไปตามระเบียบ ข้อ 8 วรรคสาม ดังนี้

                    (3.1) ประธานชั่วคราวจัดให้ตกลงกันว่าใครจะจับสลากก่อน

                    (3.2) ถ้าตกลงกันไม่ได้ ให้ประธานชั่วคราวจับสลากว่าใครจะจับสลากก่อน

                    (3.3) บัตรสลาก ต้องมีชนิด สี ขนาด เหมือนกัน มีจำนวนเท่าคนที่มีคะแนนสูงสุดเท่ากัน และเขียนว่า “ได้รับเลือกเป็นประธานสภาท้องถิ่น” 1 บัตร นอกนั้นเป็น “ไม่ได้รับเลือกเป็นประธานสภาท้องถิ่น

การรายงานผล

ประธานสภาท้องถิ่นชั่วคราวมีหน้าที่รายงานผล ภายใน 7 วัน นับแต่วันเลือก ดังนี้

  1. กรณีเทศบาล และองค์การบริหารส่วนจังหวัด ให้รายงานผลต่อผู้ว่าราชการจังหวัด
  2. กรณีองค์การบริหารส่วนตำบล ให้รายงานต่อนายอำเภอ

ประธานสภาท้องถิ่นชั่วคราว[2]

          ในการประชุมสภาท้องถิ่นครั้งแรกระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยข้อบังคับการประชุมสภาท้องถิ่น พ.ศ. 2547 (ซึ่งต่อไปจะเรียกว่า “ระเบียบฯ”) ข้อ 6 กำหนดให้นายอำเภอหรือผู้ว่าราชการจังหวัดกำหนดให้สมาชิกสภามีการประชุมสภาครั้งแรก ภายใน 15 วันนับแต่ประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกครบตามจำนวนแล้ว โดยสิ่งที่ต้องทำในการประชุมครั้งแรกคือ การปฏิญาณตนในที่ประชุม การเลือกตั้งประธานสภาท้องถิ่น รองประธานสภาท้องถิ่น เลขานุการสภาท้องถิ่น และกำหนดสมัยประชุมของปีนั้น และกำหนดสมัยประชุมสามัญสมัยแรกของปีถัดไป

การได้มาซึ่งประธานสภาท้องถิ่นชั่วคราว

          ตามระเบียบฯ ข้อ 7 กำหนดให้มีผู้ดำรงตำแหน่งประธานสภาท้องถิ่นชั่วคราว โดยให้สมาชิกสภาที่มีอายุสูงสุดซึ่งอยู่ในที่ประชุมสภาเป็นประธานสภาท้องถิ่นชั่วคราว แต่หากผู้นั้น ไม่ยอมทำหน้าที่ ก็ให้ผู้มีอายุสูงสุดรองลงมาทำหน้าที่แทน และในกรณีที่มีสมาชิกสภามีอายุสูงสุดเท่ากันมากกว่า 1 คน ให้ใช้วิธีจับสลากเลือกประธานสภาท้องถิ่นชั่วคราว  ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสำหรับองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือเทศบาล นายอำเภอสำหรับองค์การบริหารส่วนตำบล  ดำเนินการให้คนที่มีอายุสูงสุดเท่ากันตกลงกันเสียก่อนว่า  จะให้คนใดเป็นคนจับสลากก่อนหลัง หากตกลงกันไม่ได้ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอจับสลากว่า คนใดจะเป็นคนจับสลากก่อน แล้วให้จัดทำบัตรสลาก ชนิด สี และขนาดอย่างเดียวกัน มีจำนวนเท่ากับจำนวนสมาชิกสภาท้องถิ่นที่มีอายุสูงสุดเท่ากัน  โดยเขียนข้อความว่า  “ได้เป็นประธานสภาท้องถิ่นชั่วคราว”เพียงบัตรเดียวนอกนั้นเขียนข้อความว่า  "ไม่ได้เป็นประธานสภาท้องถิ่นชั่วคราว"

อำนาจหน้าที่ของประธานสภาท้องถิ่นชั่วคราว

ประธานสภาท้องถิ่นชั่วคราวมีหน้าที่ตามระเบียบฯ ดังนี้คือ

  1. นำสมาชิกกล่าวคำปฏิญาณตน
  2. ดำเนินการเลือกประธานสภาท้องถิ่น
  3. รายงานผลการเลือกตั้งประธานสภาท้องถิ่นให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทราบภายใน 7 วันนับแต่วันที่สภาลงมติ

การพ้นจากตำแหน่งของประธานสภาท้องถิ่นชั่วคราว

ตามระเบียบฯ ข้อ10ประธานสภาท้องถิ่นชั่วคราวจะพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

          (1) สำหรับองค์การบริหารส่วนจังหวัด เมื่อสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดมีมติเลือกประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเสร็จแล้ว

          (2) สำหรับเทศบาลเมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดมีคำสั่งแต่งตั้งประธานสภาเทศบาล

          (3) สำหรับองค์การบริหารส่วนตำบล เมื่อนายอำเภอมีคำสั่งแต่งตั้งประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล

อำนาจหน้าที่ของประธานสภาท้องถิ่น

          ตามระเบียบฯ ข้อ 16 ประธานสภาท้องถิ่น มีอำนาจหน้าที่ดังนี้

          1) ดำเนินกิจการของสภาท้องถิ่นตามที่กฎหมายกำหนด

          2) เป็นประธานของที่ประชุมสภาท้องถิ่น เว้นแต่ในขณะที่เข้ากล่าวอภิปรายสนับสนุนหรือคัดค้านญัตติ ในที่ประชุมสภาท้องถิ่น

          3) บังคับบัญชาการงานในสภาท้องถิ่น

          4) รักษาความสงบเรียบร้อยในสภาท้องถิ่น

          5) เป็นผู้แทนสภาท้องถิ่นในกิจการภายนอก

          6) อำนาจและหน้าที่อื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดไว้ หรือตามที่กำหนดไว้ในระเบียบ ฯ นี้

การพ้นจากตำแหน่งของประธานสภาสภาท้องถิ่น

          โดยทั่วไปแล้วประธานสภาท้องถิ่นจะดำรงตำแหน่งจนครบอายุสภาท้องถิ่นนั้น ๆ แต่อย่างไรก็ตาม ประธานสภาท้องถิ่นอาจพ้นจากตำแหน่งก่อนครบอายุสภาท้องถิ่นได้

          การพ้นจากตำแหน่งของประธานสภาท้องถิ่นจะต้องเป็นไปตามกฎหมายจัดตั้งท้องถิ่นประเภทนั้น ๆ ได้แก่[3]

  1. ลาออก โดยยื่นหนังสือลาออกไปยังผู้อำนาจหน้าที่กำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประเภทนั้น ๆ กล่าวคือ ให้ยื่นต่อนายอำเภอในกรณีที่เป็นองค์การบริหารส่วนตำบล หรือให้ยื่นต่อผู้ว่าราชการจังหวัดสำหรับองค์การบริหารส่วนจังหวัดและเทศบาล
  2. สิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกสภาท้องถิ่น
  3. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสั่งให้พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากเหตุที่ว่าปฏิบัติการฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน ละเลยไมปฏิบัติตามหรือปฏิบัติการไมชอบด้วยอํานาจหน้าที่ หรือมีความประพฤติในทางจะนํามาซึ่งความเสื่อมเสียแกศักดิ์ตําแหนง หรือแกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ตนสังกัด
  4. สภาแห่งท้องถิ่นมีมติให้พ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุว่าปฏิบัติการฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน ละเลยไมปฏิบัติตามหรือปฏิบัติการไมชอบด้วยอํานาจหน้าที่ หรือมีความประพฤติในทางจะนํามาซึ่งความเสื่อมเสียแกศักดิ์ตําแหนง หรือแกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ตนสังกัด

อนึ่ง การพ้นจากตำแหน่งประธานสภาท้องถิ่นตามข้อ 3. และ 4. บุคคลผู้นั้นดำรงตำแหน่งประธานสภาท้องถิ่นอีกไม่ได้ตลอดอายุของสภาท้องถิ่นนั้น ๆ

 

บรรณานุกรม

หนังสือ

อรทัย  ก๊กผล, ธนิษฐา  สุขะวัฒนะ.คู่มือสมาชิกสภาท้องถิ่น. กรุงเทพมหานคร:ธรรมดาเพรส, 2551.

อื่น ๆ

พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496

พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537

พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540

ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยข้อบังคับการประชุมสภาท้องถิ่น พ.ศ. 2547

อ้างอิง 

[1]อย่างไรก็ตามมีข้อสังเกตว่าประธานสภากรุงเทพมหานครและประธานสภาเมืองพัทยามีอำนาจหน้าที่แทบจะเหมือนกันกับประธานสภาท้องถิ่นตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยข้อบังคับการประชุมสภาท้องถิ่น

[2]โปรดดู อรทัย  ก๊กผลและธนิษฐา  สุขะวัฒนะ, คู่มือสมาชิกสภาท้องถิ่น (กรุงเทพมหานคร:ธรรมดาเพรส, 2551), น. 90-96.

[3] พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 มาตรา 50

  พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 มาตรา 20 ทวิ

  พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 มาตรา 18     

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก สถาบันพระปกเกล้า http://wiki.kpi.ac.th/index.php