ผู้บริหารท้องถิ่น

 

 

 

 

เรียบเรียงโดย  เจตน์  ดิษฐอุดม

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ.ดร.ปธาน สุวรรณมงคล


ความหมายของผู้บริหารท้องถิ่น

          ผู้บริหารท้องถิ่น[1] หมายถึง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายกเทศมนตรี นายกเมืองพัทยา และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล

          ผู้บริหารท้องถิ่น[2] หมายถึง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายกเทศมนตรี และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล

          ผู้บริหารท้องถิ่น[3] หมายความรวมถึง คณะผู้บริหารท้องถิ่น

          จากความหมายดังกล่าวจะเห็นได้ว่า กฎหมายได้บัญญัติให้ผู้บริหารท้องถิ่นหมายถึงแต่เฉพาะนายกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเท่านั้น จะไม่ครอบคลุมถึงตำแหน่งอื่น อย่างไรก็ดีในบางกฎหมายบัญญัติให้หมายความรวมถึงคณะผู้บริหารท้องถิ่นฝ่ายการเมืองด้วย เนื่องจากเดิมพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496  ได้กำหนดรูปแบบการบริหารเทศบาลเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ รูปแบบคณะเทศมนตรี[4] และรูปแบบนายกเทศมนตรี และต่อมาพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2546 ได้กำหนดให้เหลือเพียงรูปแบบนายกเทศมนตรีโดยให้นายกเทศมนตรีมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ดังนั้น ในบริบทปัจจุบันจึงทำความเข้าใจได้ว่า ผู้บริหารท้องถิ่นหมายถึงหมายถึงนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเท่านั้น ไม่ได้หมายความรวมถึงผู้ช่วยเหลืออื่น ได้แก่ รองนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เลขานุการและที่ปรึกษาของนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนไม่ได้หมายความรวมถึงผู้บริหารในส่วนของข้าราชการประจำ อาทิ ปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้อำนวยการสำนัก/กองขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฯลฯ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของข้าราชการและพนักงานของท้องถิ่นแต่อย่างใด

การเข้าสู่ตำแหน่ง คุณสมบัติ และการพ้นจากตำแหน่งของผู้บริหารท้องถิ่น

  • การเข้าสู่ตำแหน่ง

          แต่เดิมกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละประเภทได้กำหนดวิธีการเข้าสู่ตำแหน่งของนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเอาไว้ทั้งวิธีการเข้าสู่ตำแหน่งโดยตรงและโดยอ้อม แต่ปัจจุบันกฎหมายได้กำหนดให้ผู้บริหารท้องถิ่นจะต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนเพียงรูปแบบเดียวเท่านั้น[5]

          -   คุณสมบัติผู้บริหารท้องถิ่น

          ผู้สมัครเข้ารับเลือกตั้งเป็นผู้บริหารท้องถิ่นจะต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และตามกฎหมายจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 และที่แก้ไขเพิ่มเติม, พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ดังนี้

          1) มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง

          2) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า[6] หรือเคยเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหาร[7]ท้องถิ่น สมาชิกรัฐสภา

          3) ไม่เป็นผู้พ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาท้องถิ่น คณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการหรือที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น เพราะเหตุมีส่วนได้เสียไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมในสัญญาหรือกิจการที่กระทำกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ยังไม่ถึงห้าปีนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง 

          4) เคยเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งถูกให้พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากกระทำการทุจริต หรือประพฤติมิชอบ[8]

          โดยมีคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยว่ามีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามหรือไม่ หลังจากที่ได้รับเลือกตั้งจากประชาชนแล้ว ผู้บริหารท้องถิ่นจะดำรงตำแหน่งนับตั้งแต่วันเลือกตั้ง และมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสี่ปีนับแต่วันเลือกตั้ง สำหรับรองนายก เลขานุการและที่ปรึกษานายกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมาจากการแต่งตั้งของนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามกฎหมายจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละประเภท    

          - การพ้นจากตำแหน่ง

          ผู้บริหารท้องถิ่นจะพ้นจากตำแหน่งตามเหตุที่ระบุไว้ในกฎหมายจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประเภทนั้น ประกอบด้วย

          1) เหตุพ้นจากตำแหน่งเพราะตัวผู้ดำรงตำแหน่งเอง อาทิ ตาย ลาออก ขาดประชุม ขาดคุณสมบัติ หรือเข้าสู่ตำแหน่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ฯลฯ เป็นต้น

          2) เหตุพ้นจากตำแหน่งเพราะสภาท้องถิ่นมีมติให้พ้นจากตำแหน่ง อาทิ สภาท้องถิ่นมีมติให้พ้นจากตำแหน่งเพราะมีความประพฤติในทางที่จะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียหรือก่อความไม่สงบเรียบร้อย หรือกระทำการอันเสื่อมเสียประโยชน์ หรือสภาท้องถิ่นไม่ให้ความเห็นชอบข้อบัญญัติ/เทศบัญญัติงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฯลฯ

          3) เหตุพ้นจากตำแหน่งจากผู้ใช้อำนาจกำกับดูแล ประกอบด้วย นายอำเภอ, ผู้ว่าราชการจังหวัด และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อาทิ นายอำเภอเสนอผลการสอบสวนว่านายกองค์การบริหารส่วนตำบลกระทำการฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน หรือละเลยไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ และผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง ฯลฯ เป็นต้น   

          นอกจากนี้ยังอาจพ้นจากตำแหน่งได้ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545 และที่แก้ไขเพิ่มเติม อาทิ ราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประเภทนั้นมีจำนวนไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มาลงคะแนนเสียงเห็นว่าผู้บริหารท้องถิ่นไม่สมควรดำรงตำแหน่ง ฯลฯ เป็นต้น ทั้งนี้หากนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพ้นจากตำแหน่งจะส่งผลให้รองนายก เลขานุการและที่ปรึกษานายกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพ้นจากตำแหน่งไปด้วยตามกฎหมายจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละประเภท

อำนาจหน้าที่ของผู้บริหารท้องถิ่น

          ผู้บริหารท้องถิ่นบริหารงานตามขอบเขตอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด ภายใต้การควบคุมและตรวจสอบโดยสภาท้องถิ่นและประชาชนในเขตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และมีรองนายก เลขานุการและที่ปรึกษานายกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ช่วยเหลือ ซึ่งผู้บริหารท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่ตาม   กฎมายที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย[9]   

          1) กำหนดนโยบายโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย และรับผิดชอบในการบริหารราชการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับของทางราชการ ข้อบัญญัติ/   เทศบัญญัติ นโยบายและแผนพัฒนาท้องถิ่น

          2) สั่ง อนุญาต และอนุมัติเกี่ยวกับราชการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

          3) แต่งตั้งและถอดถอนรองผู้บริหาร เลขานุการ และที่ปรึกษาของนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

          4) วางระเบียบเพื่อให้การบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

          5) รักษาการให้เป็นไปตามข้อบัญญัติ/เทศบัญญัติขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

          6) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติและกฏหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

   

เงินเดือนและค่าตอบแทนของผู้บริหารท้องถิ่น

          ในบริบทของประเทศไทย ผู้บริหารท้องถิ่นได้รับค่าตอบแทนจากการปฏิบัติหน้าที่ ประกอบด้วย เงินเดือน ค่าตอบแทนประจำตำแหน่ง และเงินค่าตอบแทนพิเศษนับตั้งแต่วันเลือกตั้ง   ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง[10] โดยนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะได้รับค่าตอบแทนแปรผันตามรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เว้นแต่เฉพาะองค์การบริหารส่วนจังหวัด ดังนี้

          1) องค์การบริหารส่วนจังหวัด ประกอบด้วย เงินเดือนเดือนละ 55,530 บาท ค่าตอบแทนประจำตำแหน่งเดือนละ 10,000 บาท และค่าตอบแทนพิเศษเดือนละ 10,000 บาท สำหรับรองนายก เลขานุการและที่ปรึกษาของนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด จะได้ค่าตอบแทนทั้งหมดรวมกันอยู่ระหว่าง 13,880 บาท จนถึง 45,540 บาท 

          2) เทศบาล จะกำหนดบัญชีเงินเดือนและค่าตอบแทนจำแนกตามรายได้ของเทศบาล ตั้งแต่ไม่เกิน    1 ล้านบาท จนถึงเกิน 300 ล้านบาท ประกอบด้วย เงินเดือนตั้งแต่ 10,080 บาท จนถึง 55,530 บาท    เงินค่าตอบแทนประจำตำแหน่งตั้งแต่ 2,100 บาท จนถึง 10,000 บาท และเงินค่าตอบแทนพิเศษตั้งแต่ 2,100 บาท จนถึง 10,000 บาท

          3) องค์การบริหารส่วนตำบล จะกำหนดบัญชีอัตราค่าตอบแทนจำแนกตามรายได้ขององค์การบริหารส่วนตำบลตั้งแต่ 5 ล้านบาท จนถึงเกิน 50 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าตอบแทนรายเดือนตั้งแต่ 18,960 บาท จนถึง 22,080 บาท เงินประจำตำแหน่ง ตั้งแต่ 1,450 บาท จนถึง 2,000 บาท และเงินตอบแทนพิเศษตั้งแต่ 1,450 บาท จนถึง 2,000 บาท     

 

บรรณานุกรม

พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการสอบสวนผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหาร ประธานสภาท้องถิ่น รองประธานสภาท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น และที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2554   

ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น พ.ศ. 2555

ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยเงินเดือนและค่าตอบแทนนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด รองประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ที่ปรึกษานายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และกรรมการสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2554

ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยเงินค่าเดือน เงินค่าตอบแทนและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของนายกเทศมนตรี รองนายกเทศมนตรี ประธานสภาเทศบาล รองประธานสภาเทศบาล สมาชิก  สภาเทศบาล เลขานุการนายกเทศมนตรี ที่ปรึกษานายกเทศมนตรี และการจ่ายเงินค่าเบี้ยประชุมกรรมการสภาเทศบาล พ.ศ. 2554  

ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยเงินค่าตอบแทนนายกองค์การบริหารส่วนตำบล รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล รองประธานสภาองค์การ บริหารส่วนตำบล สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนตำบลและเลขานุการสภาองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2554       

อ้างอิง

          [1]ข้อ 5 ของระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการสอบสวนผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหาร ประธานสภาท้องถิ่น รองประธานสภาท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น และที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2554

          [2]ข้อ 4 ของระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น พ.ศ. 2555

          [3]มาตรา 4 ของพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545 และ ที่แก้ไขเพิ่มเติม 

            [4]คณะเทศมนตรี ประกอบด้วย นายกเทศมนตรี 1 คน และเทศมนตรีอื่นๆ ซึ่งมาจากสมาชิกสภาตามความเห็นชอบของสภาเทศบาล ตามจำนวนที่กฎหมายกำหนด และมีวาระในตำแหน่ง 4 ปี

          [5] พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

          [6] ในประเด็นนี้สำหรับพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้กำหนดให้ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่ามัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า หรือเคยเป็นสมาชิกสภาตำบล สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมาชิกรัฐสภา

          [7] ตามความหมายของพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งผู้เขียนอธิบายข้างต้น

          [8] มีบัญญัติไว้เฉพาะพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

          [9]มาตรา 35/5 ของพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 และที่แก้ไขเพิ่มเติม, มาตรา 48 เตรส ของพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และ มาตรา 59 ของพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

          [10] บัญชีอัตราเงินเดือนและค่าตอบแทน ของระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยเงินเดือนและค่าตอบแทนผู้บริหารและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2554 ทั้ง 3 ประเภท

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก สถาบันพระปกเกล้า http://wiki.kpi.ac.th/index.php